“ส.ว.กมล”ผ่าทางตันปฏิรูปการศึกษาไทยสร้างโอกาส เสริมคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ปรับงบตอบโจทย์การพัฒนา หนุนเด็กกลุ่มเปราะบาง-เด็กอัจฉริยะ ก้าวสู่สังคมผู้รู้เต็มรูปแบบ

“ส.ว.กมล”ผ่าทางตันปฏิรูปการศึกษาไทยสร้างโอกาส เสริมคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ปรับงบตอบโจทย์การพัฒนา หนุนเด็กกลุ่มเปราะบาง-เด็กอัจฉริยะ ก้าวสู่สังคมผู้รู้เต็มรูปแบบ

 

 

เมื่อวันที่ 14 ก.พ.นายกมล รอดคล้าย สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า ประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผลสำเร็จได้นั้น ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและมองพัฒนาการการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงเชิงตะกอน
ดังนั้นประเด็นหลักที่อยากเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จยั่งยืน คือ 1. ต้องโอกาสทางการศึกษาที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถ ดึงนักเรียนที่ออกนอกระบบการศึกษากลับมาได้จำนวนมาก เห็นได้จากหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาสนับสนุนแนวทางนี้ ซึ่งถือว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และควรได้รับการผลักดันต่อไป

2.สร้างคุณภาพการศึกษา กรณีนี้อยากเรียนว่าสถานการณ์ของระบบการศึกษาไทย ไม่ได้ตกต่ำอย่างที่หลายคนกังวล เพราะปัญหา Learning Loss ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย โดยปัจจุบันมีการขับเคลื่อนการประเมินสมรรถนะของนักเรียนในระดับสากล หรือ PISA และการยกระดับการเรียนรู้ ผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ การสร้างข้อสอบ แนว PISA การอบรมพัฒนาครูทุกสังกัด การอบรมและฝึกเด็กนักเรียน นอกจากนั้นยังยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยเเนวทางอื่นๆ เช่น โรงเรียนต้นแบบศูนย์เรียนรู้สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) การเทียบโอนผลการเรียน และ E-Portfolio รวมถึงเชิญชวนให้ หน่วยงานด้านการศึกษาทั้ง 11 กระทรวง และ 53 กรม มาร่วมมือกันพัฒนาการศึกษา

3.สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาเด็กกลุ่ม gifted เพื่อให้เป็นผู้นำทางสังคมในอนาคต ในส่วนกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ต้องผลิตครูรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์โลกยุคใหม่ นอกจากนี้ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการเรียนรู้ ให้เด็กสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่สำคัญดึงคนเก่งจากต่างประเทศ ทั้งชาวต่างชาติ และคนไทย เข้ามาเป็นบุคลากรด้านการศึกษา โดยใช้สวัสดิการที่ดึงดูดใจ เป็นแรงจูงใจ

นายกมล กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการจัดสรรงบประมาณ
เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษานั้น 1.จำเป็นต้องปรับงบประมาณให้เน้นสัดส่วนงบพัฒนาให้มากขึ้น แทนการใช้เป็นงบบุคลากรเเละธุรการ 2.เพิ่มคูปองการศึกษาให้กับเด็กยากไร้ เพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ที่เท่าเทียม 3.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมดูแลเด็กปฐมวัย เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น 4.ตั้งกองทุนพัฒนาเด็กอัจฉริยะในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนเด็กที่มีศักยภาพสูง ให้ได้รับโอกาสพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่

 

นายกมล กล่าวด้วยว่า ถ้าให้สรุปใจความการศึกษาไทยให้เดินหน้าอย่างเข้าใจง่ายๆไทยต้องให้ความสำคัญกับโอกาส คุณภาพ และขีดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมทั้งปรับงบประมาณให้ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างแท้จริง และ สร้างระบบสนับสนุนสำหรับเด็กกลุ่มเปราะบางและเด็กอัจฉริยะ เพื่อสร้างสังคมที่มีความรู้และความสามารถสูงในอนาคตนั่นเอง.

 

///

Related posts