แพทย์ทหาร เตือน “ตรวจหาวัณโรคระยะแฝง” ป้องกันการป่วย ลดการแพร่ระบาดในชุมชน
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขในประเทศไทย แม้ว่าประเทศจะมีความก้าวหน้าในการควบคุมโรค แต่ยังคงพบผู้ป่วยรายใหม่ในอัตราที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความแออัดหรือมีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก เช่น หอพัก หรือชุมชนแออัดที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งวัณโรคระยะแฝง คือภาวะที่ร่างกายติดเชื้อวัณโรค แต่ยังไม่ป่วยเป็นวัณโรค ไม่มีอาการใดๆ ผลเอกซเรย์ปอดปกติ ตรวจเสมหะไม่พบเชื้อ และไม่สามารถ แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันสามารถควบคุมเชื้อไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อวัณโรค ระยะแฝง อาจพัฒนาไปสู่การป่วยเป็นวัณโรคได้ประมาณ 10 % หากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ซึ่ง 5% ป่วยเป็นวัณโรคใน 2 ปีแรก และอีก 5 % ป่วยหลังจากนั้นตลอดช่วงชีวิต การตรวจวัณโรคระยะแฝงเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างทันท่วงที จึงเป็นวิธีที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อป่วยเป็นวัณโรคได้ในอนาคต ป้องกันการแพร่ระบาดของวัณโรคในชุมชนและลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองวัณโรคและต่อด้วยการตรวจวัณโรคระยะแฝง คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยวัณโรคที่มีอายุมากกว่า 5 ปี หากพบติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงควรได้รับการรักษาเพื่อป้องกันการป่วยเป็นวัณโรค หากไม่พบการติดเชื้อระยะแฝงต้องเอกซเรย์ปอดทุก 6 เดือน ใน 2 ปี เพื่อเฝ้าระวังการป่วยเป็นวัณโรค ส่วนสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรได้รับการรักษาวัณโรคระยะแฝงทันที เพื่อป้องกันความรุนแรงจากการป่วยเป็นวัณโรคที่จะเกิดกับเด็กในอนาคตต่อไป สำหรับกระบวนการตรวจหาวัณโรคระยะแฝง สามารถทำได้โดยการตรวจเลือดหาการติดเชื้อ (IGRAs) หรือการทดสอบทางผิวหนังที่เรียกว่า Tuberculin Skin Test (TST) หากผลตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์จะพิจารณาให้ยาเพื่อกำจัดเชื้อและป้องกันการพัฒนาไปสู่ระยะรุนแรง การตรวจหาวัณโรคระยะแฝงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ประชาชนควรตระหนักถึงการเข้ารับการตรวจและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของตนเอง แต่ยังช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลรอบข้างและสังคมโดยรวม
ในการนี้ พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และคณะแพทย์ทหาร มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 รวมทั้งพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อโรคภัยดังกล่าว ซึ่งหากมีอาการตามขั้นต้น ให้รีบไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว
จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือทราบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพภาคที่ 3 โดย โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตทุกโอกาส
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว