สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ร้องกมธ. การเกษตรฯ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการฝากเงินและการลงทุน

สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ร้องกมธ. การเกษตรฯ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการฝากเงินและการลงทุน

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2568 เวลา 10.20 นาฬิกา ณ ลานรับเรื่องราวร้องทุกข์ ศาลาแก้ว อาคารรัฐสภา (สส.) คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา นำโดย นายธวัช สุระบาล ประธานคณะกรรมาธิการ รับหนังสือจากนายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และคณะ เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จากการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการฝากเงินและการลงทุน เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2567 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567

โดยสาระสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสหกรณ์ คือ ข้อ 3 กำหนดให้สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ฝากเงินหรือลงทุนในนิติบุคคลแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละสิบของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ เว้นแต่เป็นการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐบาลให้ฝากเงินหรือลงทุนเกินร้อยละสิบของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์นั้นได้ นอกจากนี้ ข้อ 4 ยังกำหนดให้สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน สามารถฝากเงินหรือการลงทุน เมื่อนำมารวมกันแล้วต้องไม่เกินทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์หรือชุมนุม


.
สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรกลางของขบวนการสหกรณ์ไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ประกอบด้วย สหกรณ์ทุกสหกรณ์เป็นสมาชิกได้รับการร้องขอจากสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้จัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นและปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2567 เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมีข้อสรุปร่วมกันว่า กฎกระทรวงจะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก โดยเฉพาะการออมทรัพย์ในรูปของเงินฝาก และก่อให้เกิดการกระจุกตัวเนื่องจากเงินในระบบสหกรณ์จะถูกบังคับให้ลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐบาลซึ่งมีอยู่จำนวนน้อยและมีความเสี่ยง ที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันขอให้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ดำเนินการ ดังนี้

1) สรุปความคิดเห็นและปัญหาความเดือดร้อนของสหกรณ์ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2) ประสานไปยังหน่วยงานกลางที่รับฟังและสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น นายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ผ่านทางกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง และ 3) หากปัญหาความเดือดร้อนของสหกรณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข ขอให้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เพื่อฟ้องเพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าวต่อไป ดังนั้น จึงขอให้คณะกรรมาธิการฯ จัดให้มีการทบทวนกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2567 ตลอดจนมาตรการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน


.
ด้านนายธวัช สุระบาล ประธานคณะกรรมาธิการกล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณารายละเอียดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2567 และจะพิจารณาผลกระทบแนวทางการบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ และจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันต่อไป

Related posts