“พิพัฒน์” กำชับ กสร. เร่งรัดช่วยเหลือลูกจ้าง แพนการ์ด ไม่ได้ค่าจ้าง ยืนยันเร่งให้รับสิทธิเร็วที่สุด

“พิพัฒน์” กำชับ กสร. เร่งรัดช่วยเหลือลูกจ้าง แพนการ์ด ไม่ได้ค่าจ้าง ยืนยันเร่งให้รับสิทธิเร็วที่สุด
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

28 สิงหาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นั่งเป็นประธาน การประชุมหารือการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท รักษาความปลอดภัย แพน การ์ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง หลังกลุ่มแรงงานเพื่อสังคมขอเข้าพบเพื่อติดตามความคืบหน้า พร้อมสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งรัดการดำเนินการตามกรอบกฎหมายเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิโดยเร็วที่สุด

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังการหารือว่า วันนี้กลุ่มแรงงานเพื่อสังคมได้พาลูกจ้างบริษัท รักษาความปลอดภัย แพน การ์ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 15 คน มายังกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือ กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง ซึ่งได้มีพูดคุยร่วมกันโดยมี นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้แทนกองคุ้มครองแรงงาน และผู้แทนกองนิติการ ร่วมชี้แจงการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง โดยได้ข้อสรุปว่า พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับคำร้อง (คร.7) และออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย จำนวน 3 คำสั่งตามรอบการจ่ายค่าจ้างแล้ว เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,390,897 บาท

 

ซึ่งคำสั่งแรก ลงวันที่ 16 ก.พ. 2567 นายจ้างได้จ่ายค่าจ้างตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานครบถ้วนแล้ว เป็นเงิน 487,918 บาท คำสั่งที่สอง ลงวันที่ 5 มิ.ย. 2567 นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และไม่นำคำสั่งไปสู่ศาล ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีอาญานายจ้าง เป็นเงินจำนวน 619,183 บาท ส่วนคำสั่งที่สาม ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2567 เป็นเงินจำนวน 283,796 บาท นายจ้างนำคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปฟ้องเพิกถอนที่ศาลแรงงานภาค 1 (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลาการวางเงินต่อศาล ซึ่งวันนี้ยังได้ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้าง เพื่อเขียนคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พร้อมทั้งประสานเรื่องไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

 
ด้านนางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดี ได้กล่าวเสริมว่า หลังจากนี้จะได้กำชับให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเร่งรัดการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิโดยเร็วที่สุด โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานให้ลูกจ้างได้รับความช่วยเหลือในทุกมิติ ได้แก่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด ในการขึ้นทะเบียนว่างงาน และจัดหางานที่เหมาะสมให้กับลูกจ้าง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด ในการดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิกรณีว่างงาน รวมถึงสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 15 พระนครศรีอยุธยา ในการสำรวจความต้องการฝึกอาชีพของลูกจ้างตามข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

Related posts