สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในสิทธิมนุษยชนให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 9

สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในสิทธิมนุษยชนให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 9

 

เมื่อวันอังคารที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00-12.00 น. ที่ห้องประชุมสามัคคีตำรวจภูธรจังหวัดยะลาตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหัวข้อ “ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 ” ให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดยะลา จำนวน 150 คน ตามโครงการฝึกอบรมเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 9 รุ่นที่ 7 กลุ่มเป้าหมายคือ ข้าราชการตำรวจสายงานป้องกันปราบปราม สายงานสืบสวน และผู้ช่วยพนักงานสอบสวน จำนวน 7 รุ่น รุ่นละ 150 คน รวมทั้งหมด 1,050 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ ในสังกัดตำรวจภูธรภาค 9 ให้มีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในหลักการสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9

   

สำหรับการอบรมดังกล่าว เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้บรรยายให้ความรู้ถึงความหมายและหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน หลักการปารีส บทบาท หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และบทบาท หน้าที่ของสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ในการส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนตระหนักในสิทธิมนุษยชนและเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน แนวทางการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การจับกุม การสืบสวนสอบสวน การควบคุมตัว การตรวจค้น และกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 ต่อไป

   

ในการนี้เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้เข้ารับการอบรมติดตามข้อมูลข่าวสาร ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสำนักงาน กสม. พร้อมทั้งเชิญชวนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ผ่านช่องทาง Facebook ทั้งนี้ สามารถแจ้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่องทางต่าง ๆ เช่น ร้องเรียนเป็นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ ร้องเรียนทางเว็บไซต์ หรือทางโทรศัพท์สายด่วน 1377

Related posts