ศรีสะเกษ เจ้าคณะภาค 10 จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร สู่การเป็นพระธรรมวิทยากรมืออาชีพรองรับโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนและขยายเครือข่ายพระธรรมวิทยากรในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 10 อย่างเป็นรูปธรรม

ศรีสะเกษ เจ้าคณะภาค 10 จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร สู่การเป็นพระธรรมวิทยากรมืออาชีพรองรับโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนและขยายเครือข่ายพระธรรมวิทยากรในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 10 อย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ พระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพ ได้ให้ความเมตตามาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพพระวิทยากรสู่การเป็นพระธรรมวิทยากรมืออาชีพ รองรับโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนและขยายเครือข่าย พระธรรมวิทยากร ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 10 อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคณะสงฆ์ภาค 10 ร่วมกับ คณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดโครงการสัมมนานี้ขึ้น มีพระวิทยากรจากวัดต่าง ๆ ทุกอำเภอของจังหวัดศรีสะเกษมาเข้าร่วมสัมมนา มีกิจกรรมประกอบด้วย พิธีจุดธูปเทียนพระรัตนตรัย พิธีกราบสักการะเจ้าคณะภาค 10 ประธานในพิธีกล่าวให้โอวาท โดยมี พระศรีวชิรบัณฑิต เลขานุการเจ้าคณะภาค 10 เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีพระวชิรสิทธิธาดา เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ นำคณะเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล นายอัครนันท์ นนทา ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมพิธีและน้อมถวายการต้อนรับ

พระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพ กล่าวว่า โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติหลักสูตร “22 วัน แห่งการตื่นรู้” จัดโดย คณะสงฆ์ภาค 10 ร่วมกับ องค์กรภาคีเครือข่าย กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2 – 23 เมษายน พ.ศ. 2567 ณ วัด ที่พักสงฆ์ หรือ สถานปฏิบัติธรรม ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 10 ทั้งนี้เนื่องจากว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย คนไทยนับถือและยกย่องเทิดทูนพระพุทธศาสนาเป็นสรณะแห่งชีวิต วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทางด้านสังคม ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี มีพระสงฆ์เป็นศูนย์รวมจิตใจ ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาส่งผลให้คนไทยสามารถนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องดีงาม เช่น ความเมตตากรุณา ความกตัญญูกตเวที ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น เป็นสังคมเอื้ออาทร ทำให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข อย่างไรก็ตาม

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) เป็นยุคไร้พรมแดน วัฒนธรรมทางตะวันตกหลั่งไหลเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย ส่งผลให้คนไทยส่วนหนึ่งหลงระเริง เป็นสังคมวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยมมากขึ้น เด็กเยาวชนซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อการพัฒนาชาติ ที่ยังขาดวุฒิภาวะ ไม่มีวิจารณญาณเพียงพอในการดำรงชีวิต เป็นผู้ที่รับผลกระทบโดยตรง เด็กเยาวชนเหล่านั้นมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ อันเกิดจากปัญหานานาประการ เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาทางเพศ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเด็กติดเกมส์ เป็นต้น มากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ เพราะขาดการกล่อมเกลา ขัดเกลาความประพฤติด้วยหลักคุณธรรมจริยธรรมนั่นเอง สถาบันพระพุทธศาสนามีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการอบรมบ่มเพาะความดีงามทั้งทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของเด็กเยาวชนเหล่านี้ให้เป็นคนดี โดยการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการพัฒนา ให้สมกับคำว่า “ความรู้คู่คุณธรรม”

พระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพ กล่าวต่อไปว่า อนึ่งปี พ.ศ.2567 เป็นปีมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมายุ 6 รอบนักษัตร 72 พรรษา และในวันที่ 2 เม.ย.2567 เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะสงฆ์ภาค 10 ซึ่งประกอบด้วย 6 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครพนม มุกดาหาร และอำนาจเจริญ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในเด็กและเยาวชนในช่วงปิดภาคการศึกษา จึงได้ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย จัด “โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ”ขึ้น

 

พระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพ ยังกล่าวด้วยว่า การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร สู่การเป็นพระธรรมวิทยากรมืออาชีพรองรับโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนและขยายเครือข่ายพระธรรมวิทยากรในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 10 อย่างเป็นรูปธรรม อันจักเป็นแนวทางการเผยแผ่พุทธธรรม การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม อันดีงามแก่เด็ก เยาวชน รวมทั้งประชาชนต่อไป ทั้งนี้เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และประชาชนให้เป็นคนดี ดำรงมั่นในศีลธรรม จริยธรรม สามารถนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปใช้ประยุกต์ใช้การดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นแนวทางสร้างศาสนทายาท ผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป/////////

 

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ

Related posts