ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมงานสัมมนาแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 เพื่อร่วมบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่อการขับเคลื่อนการพัฒนา
เมื่อวัน ที่ 17 มกราคม 2566 ที่ โรงแรมซีเอสปัตตานี นางสาวเยาวภา อินชะนะ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม เปิดการสัมมนา แนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิด
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอสาระสำคัญของหมุดหมายที่ 8 และประเด็นการพัฒนาสำคัญ ที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ และการประชุมกลุ่มย่อย ภายใต้โครงการจัดทำร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองฯ และประการที่สอง ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการประชุม คือ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อประเด็นการพัฒนาเมือง ภายใต้แผนพัฒนาดังกล่าว โดยข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ที่ได้รับในกิจกรรมครั้งนี้ สภาพัฒน์จะนำไปพิจารณาประกอบการจัดทำแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาภายใต้หมุดหมายที่ 8 อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งทุกภาคส่วนล้วนมีบทบาทสำคัญ ในการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายระยะ 5 ปี ตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาดังกล่าว โดยการพัฒนาเมืองเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ปรากฏอยู่ในหมุดหมายที่ 8 ซึ่งไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์การพัฒนา ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก การส่งเสริมกลไกความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคมเพื่อการพัฒนาพื้นที่และเมือง การสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และดิจิทัลรองรับพื้นที่เศรษฐกิจหลักและเมือง การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการพื้นที่และเมือง การพัฒนาเมือง เป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องและครอบคลุมหลายมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาระดับภาคและพื้นที่อย่างมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนา ดังนั้น การสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นเวทีสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดการ บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุผลต่อไป