เลขาธิการ ศอ.บต. มอบนโยบายสร้างชุมชนน่าอยู่ ตามแนวทาง “ระเบิดจากข้างใน” ยกระดับคุณภาพชีวิตตามหลักการทรงงาน ในหลวง รัชกาลที่ 9
วันนี้ (15 มกราคม 2566) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดมหกรรมชุมชนน่าอยู่ชายแดนใต้ ณ ห้องประชุมวันมูหะมัดนอร์ มะทา มหาวิทยาลัยฟาฎอนี โดยมี นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. พลตรี วรเดช เดชรักษา ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า นายสุวิทย์ หมาดอะดำ หัวหน้าหน่วยจัดการโครงการชุมชนน่าอยู่ชายแดนใต้ และผู้แทนสภาผู้นำชุมชน/กรรมการหมู่บ้าน ประชาชนในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย 28 หมู่บ้านเข้าร่วมกิจกรรม
สำหรับมหกรรมชุมชนน่าอยู่ชายแดนใต้ ดำเนินการขึ้นตั้งแต่ปี 2564 มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสภาผู้นำชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนชุมชนน่าอยู่ด้วยแผนชุมชนและกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน พัฒนาการทำงานของชุมชนน่าอยู่เชื่อมกับระบบของภาคีในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และพฤติกรรมสุขภาพของชุมชน พร้อมจัดการความรู้ส่งต่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง
โดยส่วนใหญ่มีการพัฒนาและหนุนเสริมการเพาะปลูกพืชผักส่วนครัวปลอดสารพิษ หนุนเสริมอาชีพแก่คนในชุมชนให้มีรายได้อีกช่องทางหนึ่ง
จัดกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุ และอื่นๆเพื่อร้างชุมชนน่าอยู่ตามแบบฉบับชุมชนที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก และชุมชนอื่นๆที่มีการหารือยกระดับชุมชนตามความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
โดยพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การยกระดับศักยภาพชุมชนตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ผ่านผู้นำชุมชนในแต่ละท้องถิ่นนั้น เป็นต้นแบบที่ถูกต้องและถูกทาง ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจากความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดย ศอ.บต. พร้อมเติมเต็มและหนุนเสริมการแก้ไขปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ แนวทางการยกระดับชุมชน และสร้างชุมชนน่าอยู่ มีแนวทางดำเนินการตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน โดยมีพระราชดำรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” สร้างความเข้มแข็งให้คนและครอบครัวในชุมชนที่เข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. เสนอโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้านและชุมชน ให้ที่ประชุม กตพ.อนุมัติ เพื่อนำงบประมาณให้ชุมชนนำไปแก้ไขปัญหาจากระดับล่างสู่ระดับบน จากปัญหาในครัวเรือนและชุมชน สู่การแก้ไขปัญหาระดับนโยบาย