เลขาธิการ ศอ.บต. ระบุ “รัฐบาลเร่งเดินหน้าสร้างตัวตนให้กับกลุ่มคนที่ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร์เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานจากภาครัฐอย่างเท่าเทียม”
วันนี้ ( 21 ธันวาคม 2565 ) ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ชั้น 1 อาคาร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานเปิดกิจกรรมการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) และอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการในประเทศ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 22 ธันวาคม 2565 โดยมี นายอิสระ ละอองสกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง (ศอ.บต.) ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้ที่มารับการตรวจ DNA ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าร่วมกิจกรรม กว่า 330 คน
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ทาง ศอ.บต. ได้ดำเนินการเรื่องนี้มา 4 ปีแล้ว ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พระองค์ท่านทรงห่วงใยในเรื่องนี้ โดย ศอ.บต. ดำเนินการมาแล้วกว่า 2,308 ราย ซึ่งเป็นพลเมืองไทยแต่ไม่มีสถานะ ทางทะเบียน ไม่มีตัวตน เริ่มต้นตั้งแต่เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ทางรัฐบาลได้เน้นย้ำให้ดูแลให้ทั่วถึง โดยทำร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกระทรวงยุติธรรม ทาง ศอ.บต. ไม่ได้ตรวจแค่ DNA ยังมีหลายครัวเรือนที่เดินต่อไม่ได้ ยังมีปัญหาสุขภาพ ศอ.บต. จะดูแลเรื่องสุขภาพต่อรวมทั้งดูแลในเรื่องการทำมาหากิน ดูแลในทุกมิติ ซึ่ง กว่า 2,000 คน ที่ได้รับการช่วยเหลือ ตอนนี้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับประชาชนชาวไทยแล้ว ก่อนหน้านี้ ถือได้ว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่มีตัวตน รวมถึงกลุ่มใหญ่ที่ทำงานอยู่ในปรเทศมาเลเซียที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ แต่หลังจากได้บัตรแล้วได้ทยอยกลับมาใช้ชีวิตยังภูมิลำเนาและทำงานอยู่ในประเทศไทยและทำมาหากินที่นี่ อย่างไรก็ตามไม่ได้เพียงแค่เพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร์หรือทำบัตรประชาชน แต่หมายถึงการให้โอกาสให้ชีวิตใหม่ในแผ่นดินเกิด คิดว่างานนี้เป็นงานที่สำคัญอีกหนึ่งงานของการคลี่คลายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายดอฮะ มะเซ็ง ซึ่งนำญาติมาร่วมตรวจสารพันธุกรรม DNA ในครั้งนี้ กล่าวขอบคุณ ศอ.บต. ที่ได้จัดโครงการนี้ขึ้น ญาติของตนไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง และยังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของภาครัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง เนื่องจากไม่มีหลักฐานในการยืนยันตัวตน ดีใจมากที่ทาง ศอ.บต. ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพราะจะทำให้ผู้ที่ไม่มีบัตร สามารถใช้บริการสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ จากรัฐอย่างเท่าเทียมกับประชาชนที่มีสัญชาติไทยได้
ด้าน นางสาวกัลยาณี ดือราแม มารดาของเด็กชายอิลมาน ดือราแม ซึ่งนำบุตรมาร่วมตรวจสารพันธุกรรม DNA ในครั้งนี้ กล่าวว่า บุตรชายตนเกิดที่ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศไทยและยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน จึงได้มาร่วมกิจกรรมซึ่งบัตรประชาชนถือได้ว่ามีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการรักษาเวลา เข้าโรงพยาบาลเนื่องจากการเจ็บป่วย กิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ดีมากพอทราบว่ามีกิจกรรมนี้ขึ้นจึงสนใจที่จะมาเข้าร่วมขอขอบคุณทาง ศอ.บต. ที่จัดกิจกรรมดี ๆ อย่างนี้ขึ้น ในปีหน้าบุตรชายก็จะเข้าโรงเรียนตามเกณฑ์ได้อีกด้วย
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาคนด้อยโอกาส และขาดโอกาสทางสังคม รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ หรือไร้สัญชาติจากการสำรวจของทางราชการ การไม่แจ้งเกิด การขาดความรู้ความเข้าใจ ในการรับรองสถานะทางทะเบียนราษฎร์ รวมไปถึงการไม่มีเอกสารของทางราชการหรือ ไม่มีบุคคลที่สามารถเป็นพยานเพื่อยืนยันสถานภาพ ทำให้ประชาชนบางส่วนกลายเป็นคนไทยไร้สัญชาติ หรือไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะสืบสายโลหิตจากพ่อและแม่ที่เป็นคนไทยก็ตาม จึงทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ เสรีภาพ และการบริการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ จากรัฐอย่างเท่าเทียมกับประชาชนที่มีสัญชาติไทยได้ ศอ.บต. จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมการปกครอง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สถานกงสุลใหญ่เมืองโกตาบารู และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สัญชาติหรือบุคคลไม่มีสถานะ ทางทะเบียนราษฎร์ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบันโดยต้องอาศัยผลการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต เพื่อให้ความยุติธรรมกับบุคคลกลุ่มเปราะบาง ให้มีสิทธิเท่าเทียมกับประชาชนที่มีสัญชาติไทย และเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคีภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานอีกด้วย