ศรีสะเกษ ชวนชมทะเลหมอกบางๆที่ผาพญากูปรีชายแดนไทย กัมพูชาด้านช่องสะงำ ย้อนตำนานกูปรีวัวป่าตัวสุดท้ายบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก

 

ศรีสะเกษ ชวนชมทะเลหมอกบางๆที่ผาพญากูปรีชายแดนไทย กัมพูชาด้านช่องสะงำ ย้อนตำนานกูปรีวัวป่าตัวสุดท้ายบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณจุดชมวิวผาพญากูปรี ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่อยู่ติดกับแนวชายแดนไทย – กัมพูชาด้านจุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูชาช่องสะงำ ปรากฏว่าเช้าวันนี้ สภาพอากาศค่อนข้างหนาวเย็น ส่งผลให้มีหมอกบาง ๆ ลอยอ้อยอิ่งไปบนยอดไม้ มีสายหมอกพัดผ่านเข้ามาทำให้บริเวณนี้เหมือนดินแดนในม่านหมอกที่สวยงามมาก มีรูปปั้นกูปรีขนาดเท่าตัวจริงตั้งอยู่ มีลานหินตั้งที่สวยงาม มีจุดชมวิวยื่นลงไปเหนือยอดไม้ และมีสะพานไม้เป็นแนวยาวให้นักท่องเที่ยวเดินลงไปชมธรรมชาติที่สวยงามใต้ผาพญากูปรี ซึ่งนักท่องเที่ยวพากันบันทึกภาพความสวยงามของผาพญากูปรีไว้เป็นที่ระลึก และชมความสวยงามตามธรรมชาติของต้นน้ำห้วยสำราญที่กั้นระหว่าง อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ กับ อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ ซึ่งห้วยสำราญเป็นลำห้วยสำคัญที่ไหลลงไปสู่ตัว จ.ศรีสะเกษ ทำให้ประชาชนชาวศรีสะเกษหลายอำเภอได้ใช้น้ำจากลำห้วยนี้ในการอุปโภคบริโภคมานานกว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งที่จุดชมวิวผาพญากูปรีแห่งนี้ พระครูโกศลสิกขกิจ หรือหลวงพ่อพุฒ วายาโม ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวง เจ้าคณะอำเภอภูสิงห์ (ธ.) และเจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา ร่วมกับ พล.ต.สนธยา ศรีเจริญ อดีต ผบ.กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ในขณะนั้น และทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 กองกำลังสุรนารี อบต.ไพรพัฒนา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.ศรีสะเกษ

พระครูโกศลสิกขกิจ หรือหลวงพ่อพุฒ วายาโม ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวง เจ้าคณะอำเภอภูสิงห์ (ธ.) และเจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ กล่าวว่า ผาพญากูปรีแห่งนี้จะมีประชาชนนักท่องเที่ยวพากันแวะมาพักชมวิวจุดนี้จำนวนมากก่อนขึ้นไปเที่ยวเมืองใหม่ช่องสะงำ และจุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชาสะงำ ซึ่งอาตมาภาพได้ร่วมกับทุกภาคส่วนพัฒนาจัดทำจุดชมวิวพญากูปรีขึ้นเพื่อให้เป็นจุดพักชมวิวของประชาชนนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน อ.ภูสิงห์ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นหน้าผาที่มีความสวยงามตามธรรมชาติเป็นอย่างมาก ใต้หน้าผาลงไปสามารถมองเห็นต้นน้ำห้วยสำราญที่เป็นลำห้วยสำคัญไหลลงไปหล่อเลี้ยงประชาชนชาวศรีสะเกษ พร้อมทั้งได้จัดตั้งศาลาไทยขึ้น 3 หลังเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพักชมวิวด้วย ซึ่งเป็นจุดที่มีอากาศบริสุทธิ์มาก นักท่องเที่ยวจะสามารถสูดเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าสู่ปอดสร้างความสดชื่นให้กับร่างกายได้เป็นอย่างดี จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวศรีสะเกษและจากทั่วประเทศมากราบไหว้ขอพรจากสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่สรวงที่วัดไพรพัฒนา และเชิญชวนมาชมความสวยงามตามธรรมชาติของผาพญากูปรี ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรูปรี อาศัยตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หรือตามทุ่งหญ้าที่ไม่รกทึบนัก ที่มีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ในอดีตเชื่อว่ากูปรีมีประชากรประมาณ 250-300 ตัวกระจายอยู่ในภูมิภาคอินโดจีน ประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย ซึ่งประเทศไทยมีรายงานว่าพบกูปรีอยู่ตามแนวเทือกเขาชายแดนไทย-กัมพูชา และลาว เมื่อปี พ.ศ.2525 มีรายงานว่า พบกูปรีในบริเวณเทือกเขาพนมดงรักด้านช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ปัจจุบันไม่มีผู้พบเห็นกูปรีในธรรมชาติ และไม่มีสวนสัตว์ใดเลี้ยงไว้ คาดการณ์กันว่า กูปรีน่าจะสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าบริเวณจุดชมวิวผาพญากูปรีนี้ ในอดีตที่ผ่านมาอาจจะเป็นจุดที่เคยมีกูปรีตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่น่าเชื่อถือพอ นอกจากเป็นเพียงตำนานคำเล่าลือเท่านั้น ///////

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ

Related posts