ศอ.บต. แถลงผลการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาขายแดนใต้ตามแนวทาง กพต. รอบ 3 ปี ขณะที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ..ทุกหน่วยบูรณาการทำงานร่วมกัน มุ่งเป้าพัฒนาประชาชนอยู่ดี มีสุขและปลอดภัย

ศอ.บต. แถลงผลการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาขายแดนใต้ตามแนวทาง กพต. รอบ 3 ปี ขณะที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ..ทุกหน่วยบูรณาการทำงานร่วมกัน มุ่งเป้าพัฒนาประชาชนอยู่ดี มีสุขและปลอดภัย

วันที่ 16 ธันวาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานรับฟังการแถลงผลงาน 3 ปี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) และโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2566 และได้มอบหมายให้พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้แถลงผลการดำเนินงาน ฯ โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ตลอดจนคณะกรรมการ กพต. เข้าร่วม ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร

สำหรับผลการดำเนินงานตลอดระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ของกพต. มีผลสำเร็จและความก้าวหน้าที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล มิติด้านมั่นคง มุ่งสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความเข้มแข็งและมั่นคงปลอดภัย
อยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เช่น การเรียนศาสนาในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) จำนวน 2,088 แห่ง และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา วันอาทิตย์ 45 แห่ง รวม 2,147 แห่ง การส่งเสริมกิจกรรมและประเพณีวัฒนธรรมตามความเชื่อหลักศาสนาและอัตลักษณ์ของประชาชนทุกศาสนิกโดยไม่เลือกปฏิบัติ เป็นต้น ด้านความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ มีการวางระบบบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากอุทกภัยเฉพาะพื้นที่ที่สำคัญ ด้านความปลอดภัยจาก อาชญากรรมต่าง ได้ปรับปรุงเส้นทางสัญจร ระบบไฟฟ้า ระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่ชุมชนตำบล ผ่านโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้ข้อเสนอสภาสันติสุขตำบล ผลการประเมินอยู่ในระดับที่น่าพอใจ จำนวน 47 ตำบล จาก 282 ตำบล

ในส่วนมิติด้านมั่งคั่ง ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างความอยู่ดีกินดี คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน
และความเดือดร้อนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชากรทุกมิติ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปูทะเลให้แก่ชุมชนประมาณ 20 ชุมชน และห่วงโซ่จำนวนมาก ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานรองรับโรงไฟฟ้าชีวภาพ/ชีวมวล โดยมีพื้นที่นำร่องปลูกไผ่พลังงานจำนวน 10,000 ไร่
ส่งเสริมจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเมืองผลไม้
ส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำร่องผ่านโคบาลชายแดนใต้ และขยายผลสู่กิจกรรมการเลี้ยงแพะแบบครบวงจร การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งกว่า 30 แห่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลักของพื้นที่ให้มีความหลากหลายสามารถกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่างๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ให้มีงานทำทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่รวมกว่า 14,000 คน


การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (อนุภูมิภาค 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ผลักดันโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยกำหนดให้
อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานแปรรูปมะพร้าวครบวงจร ซึ่งมีกำลังการผลิต 46,000 ลูก/วัน และหากมีกำลังการเต็มที่จะสามารถผลิตได้ถึงวันละ 240,000 ลูก/วัน สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนที่ปลูกมะพร้าวจำนวน 50,000 ราย ผลักดันให้อำเภอเบตง เป็นเมืองต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมวิ่งเทรล เพื่อประเมินการแข่งขันวิ่งในภูมิประเทศภายใต้ ชื่อ Amazean Jungle Trail Betong 2022 จนประสบผลสำเร็จสามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 140 ล้านบาท และมีการประกาศอย่างเป็นทางการให้สนามวิ่งเทรลเบตง ผ่านการรับรองมาตรฐาน By UTMB เป็นสนามวิ่งระดับโลกพร้อมกำหนดการแข่งขันในระหว่างวันที่ 17 – 19 กุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้ชื่อ “Amazean Jungle Trail” Amazean Jungle Thailand by UTMB การยกระดับการค้าชายแดน ผ่านด่านศุลกากรทั้ง 9 ด่านที่สำคัญ การใช้โอกาสฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบีย ได้จัด “มหกรรมแรงงานไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ตลาดแรงงานที่มีทักษะโลกมุสลิม”

ซึ่งมีผู้แจ้งความประสงค์ไปทำงานจำนวนทั้งสิ้น ๖๕๐ คน การแก้ไขปัญหาความยากจน ศอ.บต. ได้จัดทําโครงการนําร่อง “1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” ได้มีการขยายผลในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ครัวเรือน การพัฒนาทางสังคม ส่งเสริมศักยภาพกลุ่มคนเปราะบางให้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐและได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง อาทิ เด็กพิการซ้ำซ้อนจำนวนกว่า 500 ราย ผู้ไร้สถานะทางทะเบียนประมาณ 20,000 ราย ได้รับการพัฒนาศักยภาพการเคลื่อนไหว หรือการนั่ง การยืน การเดิน และฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งตนเองได้มากขึ้น และลดภาระผู้ดูแลได้มากขึ้น ผู้ไร้สถานะทางทะเบียนหรือไม่มีบัตรประจําตัวประชาชน ได้ดําเนินการแก้ไขปัญหาโดยการตรวจพิสูจน์ สารพันธุกรรม (DNA) แล้วประมาณ 2,000 ราย การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น แก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วนของประชาชนในพื้นที่แก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของประชาชน
ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมครัวเรือนยากจนลดลง โดยครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยในช่วงปี 62 – 64 สูงขึ้นตามลำดับ (รายได้เฉลี่ยครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 18,231.11 บาท ต่อครัวเรือนต่อเดือน ในปี พ.ศ. 2560 เป็น 19.069.50 และ 19,128.53 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ในปี 2562 และ 2564 ตามลำดับ)
การค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนไทย – มาเลเซีย มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะที่ด่านสะเดามีมูลค่ากว่า 600,000 ล้านบาท และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การค้าชายแดนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30.26 มีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจแม้จะอยู่ท่ามกลางการระบาดของสถานการณ์โควิด ๑๙ โดยมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละ 7.0 ล้านคน จากที่มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยราว 10 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และมิติยั่งยืน มุ่งยกระดับการพัฒนาพื้นที่ภายใต้แนวคิด BCG Model พัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอาชีพที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมคิดร่วมทำสู่ความยั่งยืน
การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระบบอย่างเป็นรูปธรรมผลักดันให้สภาสันติสุขตำบลเป็นกลไกหลักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่รวม 282 ตำบล สร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็กโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลมากกว่า 60 พื้นที่/ชุมชนที่มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานรัฐ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรภาคประชาชน และประชาชนในพื้นที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีความเข้มแข็งและพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวกว่า 30 กลุ่มและกลไกที่สำคัญที่จะทำให้การพัฒนาเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ก็คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้มีการวางกรอบการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องทั้งผู้ที่บรรจุใหม่และผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและลดเงื่อนไขต่างๆ

จากการดำเนินงานตามแผนงานโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก กพต. ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องนส่งผลให้การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบผลสำเร็จและมีความก้าวหน้าในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับตอบสนองต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ได้อย่างเป็นรูปธรรม และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวขอบคุณกพต. ที่ได้ทุ่มเททำงานด้วยความเสียสละ และพัฒนาพื้นที่ให้ไปในทางที่ดีขึ้นทั้งในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การอำนวยความสะดวก ความเป็นธรรม การสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เพราะฉะนั้นแผนงานต่างๆของกพต.ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจโดยอาศัยการมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายเป็นหลักต้องนำทุกคนเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่และประเทศชาติ ต้องเป็นผู้ที่สนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ตามความต้องการของประชาชน เพราะประชาชนถือเป็นเจ้าของพื้นที่ เพราะฉะนั้นโครงการที่จะต้องให้ความสำคัญนั่นคือ 1.โครงการในพระราชดำริ ในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ ขอให้ศอ.บต. สมช. กพร. ได้มีการประสานงานการทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อขจัดอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้เกิดความสำเร็จดำเนินการได้ตามแผนงานที่วางไว้ 2. การเชื่อมโยงแผนงานโครงการแบบ 360 องศา ประสานให้สอดคล้องกับแผนงานระดับชาติภูมิภาคกลุ่มจังหวัด ท้องถิ่น โดยโครงการที่สำคัญคือโครงการเมืองต้นแบบ ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ สามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยังยืน หนองจิกปัตตานี เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตร อ.เบตง จ.ยะลา เมืองต้นแบบการพึ่งพาตนเองแบบยั่งยืน อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ ได้มีการขยายผลหลายโครงการด้วยกัน เช่นโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปูทะเล สัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล ต้องมีการวัดผลสัมฤทธิ์โครงการ 3. เรื่องการคุ้มครองและดูแลพระสงฆ์ให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้เป็นปกติสุขเพื่อสร้างความเจริญของสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนอยู่ดีมีสุขให้ได้มากที่สุด ปลอดภัย ขอให้ศอ.บต. ฝ่ายเลขานุการ ได้มีการประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะประมวลผลการทำงานที่สามารถดำเนินการได้อย่างเเท้จริงในปี 2566 ต่อไป

ทั้งนี้ภายหลังจากการแถลงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฯ ได้เยี่ยมชมบอร์ดนิทรรศการผลการดำเนินงาน 3 ปี ที่ผ่านมากับ 3 มิติ งานพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พร้อมทั้งเยี่ยมชมบูทการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นในพื้นที่”กาแฟโรบัสต้าสะบ้าย้อย” และบูทมหานครแห่งอาหารและบริการฮาลาลสู่ตลาดโลก (Halal Food and Service Metropolis)

Related posts