กลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะ ยื่นหนังสือแถลงการณ์คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะให้ตัวแทนพรรคประชาชาติ

กลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะ ยื่นหนังสือแถลงการณ์คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะให้ตัวแทนพรรคประชาชาติ

วันนี้ (5 ส.ค.65) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จัดเวทีรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือโรงไฟฟ้าจากขยะที่สำนักงาน อบต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมีชาวบ้านในตำบลบางเขา จาก 7 หมู่บ้าน มาร่วมรับฟังกว่า 200 คน และมีกลุ่มนักศึกษาจำนวนหนึ่งยืนถือป้ายคัดค้านโครงการดังกล่าวด้วยจำนวนมาก

ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะว่า จังหวัดปัตตานีมีประชากรมากกว่า 700,000 คน มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น มีการขยายตัวชุมชนมากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณขยะมากขึ้นตามไปด้วยและยังไม่สามารถบริหารจัดการขยะให้หมดไปแบบยั่งยืนได้ ประกอบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีสถานที่กำจัดขยะและยังไม่สามารถกำจัดขยะเองได้ ต้องขอรับงบประมาณจากส่วนกลางมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ภาคีสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รวมกลุ่ม 55 แห่งให้ อบต.บางเขา เป็นเจ้าภาพโครงการโรงไฟฟ้าขยะ จึงได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อศึกษาความเหมาะสมในการกำจัดขยะและผลกระทบครั้งนี้ โดย อบต.บางเขา ทำสัญญา 25 ปีให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด รวมถึงที่ดินและสถานีก่อสร้างขนถ่ายขยะ ซึ่งจะมีการรวบรวมขยะขั้นต่ำ 400 ตันต่อวัน แปรสภาพ เป็นเชื้อเพลิงขยะผลิตไฟฟ้า ปริมาณ 6 เมกะวัตต์

นายซัยฟุลเลาะห์ ยะโกะ ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้อ่านแถลงการณ์คัดค้านว่า คำกล่าวอ้างที่ว่ามีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปีนั้นสวนทางกับข้อเท็จจริง ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตรากำลังสำรองมากถึง 54% ส่งผลให้ประชาชนแบกรับค่าไฟฟ้าครัวเรือนสูงขึ้นเท่าตัว อาจเป็นผลสืบเนื่องจากการกำหนดสัญญาซื้อขายพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ยิ่งผลิตไฟฟ้าสำรองมากเท่าใด ค่าไฟฟ้าในครัวเรือนจะแพงมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับที่รัฐบาลเกลี้ยกล่อมประชาชนว่าไฟฟ้าแพงเพราะไฟไม่พอใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยกลุ่มผู้คัดค้านเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายการผลักดันโรงไฟฟ้าชีวมวลของพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้องแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้เป็นธรรมต่อประชาชน

นายมูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ รองโฆษกพรรคประชาชาติ เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองมาร่วมสังเกตการณ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาใดใดของรัฐจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งแรกมีตัวแทนประชาชนมาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยข้อมูลและสาระความรู้ที่น่าสนใจ ว่าโครงการดังกล่าวนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษายังมีบทบาทในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในชุมชนด้วย อีกทั้งยังมีตัวแทนจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 3 พรรคที่มาร่วมสังเกตการณ์ คือพรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ซึ่งคาดหวังว่าหลังจากนี้จะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อไป เพราะโครงการพัฒนาใดๆของรัฐจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากความต้องการของประชาชนและประชาชนต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง

#พรรคประชาชาติ

Related posts