กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ขับเคลื่อนโครงการ “ป่าเปียก ลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้”

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ขับเคลื่อนโครงการ “ป่าเปียก ลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้”


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงคุณค่าอเนก อนันต์ของน้ำ ทรงคํานึงว่าทุกสรรพสิ่งในสภาพแวดล้อมของมนุษย์นั้น จะเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้หากรู้จักนําไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ เฉกเช่นเดียวกับพระราชดําริป่าเปียก เพื่อป้องกันไฟไหม้ป่านั้น จึงเป็นมรรควิธี ที่ทรงคิดค้นขึ้นจากหลักการที่แสนง่ายแต่ได้ประโยชน์มหาศาล กล่าวคือ ยามที่เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นคราใด ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะคํานึงถึงการแก้ปัญหา ด้วยการระดมสรรพกําลังกันดับไฟป่าให้มอด ดับอย่างรวดเร็ว แต่แนวทางใน การป้องกันไฟป่าในระยะยาวนั้น ยังดูเลือนรางในการวางระบบอย่างจริงจัง พระราชดําริป่าเปียก จึงเป็นพระราชดําริหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแนะนําให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดําริ ทําการศึกษาทดลองจนได้รับผลสําเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยวิธีการสร้าง “ป่าเปียก” นั้น


ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จึงได้สนับสนุนให้หน่วยขึ้นตรง กองทัพภาคที่ 3 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัด ร่วมบูรณาการกับส่วนราชการ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชน
ในการจัดทำโครงการ “ป่าเปียก ลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้” การลดการเผา สร้างรายได้ โดยการนำเอาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่ก่อให้เกิดปัญหา นำมาพัฒนาใช้ประโยชน์แทนการเผาทิ้ง โดยเริ่มต้นการทดลองที่ จังหวัดเชียงใหม่ หรือ “เชียงใหม่โมเดล” ซึ่งอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน วิธีการโดยสรุป คือ เกษตรกรงดการเผา แต่นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาจำหน่ายให้ศูนย์รับซื้อฯ ซึ่งจะแปรรูปเป็น อาหารสัตว์ (โคนม/โคเนื้อ),

ผลิตกล่องอาหารลดโลกร้อน, ผลิตไม้สับ (Wood Chips), ผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง/Wood Pellet รวมทั้งส่งเข้าโรงงานไฟฟ้าชุมชน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและจำหน่าย โดยประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าทุกปีตามใบอนุญาต สำหรับรายได้ดังกล่าวจะได้นำมาเป็นกองทุนในการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งนั่นก็คือกลไกในการขับเคลื่อน โดยได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 2 ปี รวมทั้งให้ขยายผลจากความสำเร็จและความเป็นไปได้ของ “เชียงใหม่โมเดล” ซึ่งเป็นโครงการที่จะแก้ปัญหาได้ในทุกมิติและยั่งยืน โดยขับเคลื่อนการดำเนินการ ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่เรียกว่า “ภาคเหนือโมเดล” ตามรูปแบบของบันได 3 ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 พัฒนาต้นแบบของ “เชียงใหม่โมเดล”
ขั้นที่ 2 ขยายผลความสำเร็จใน 6 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, น่าน, ลำพูน, ลำปาง และกำแพงเพชร
ขั้นที่ 3 ขยายผลความสำเร็จใน 17 จังหวัด เป็น “ภาคเหนือโมเดล”


ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 โดย พันเอก ศราวุธ เกิดหลำ รองเลขาธิการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3/เลขาคณะฯ พร้อมคณะทำงานฯ ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางกับ นาย เชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน, รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ฝ่ายทหาร) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดหวัด, เกษตรจังหวัด, พลังงานจังหวัด, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด, อุตสาหกรรมจังหวัด, ท่องเที่ยวจังหวัด, ประธานสภาหอการค้า/ประธานสภาลมหายใจ (NGO) โดยทุกภาคส่วนได้ให้ข้อมูลบริบทพื้นที่ที่เป็นประโยชน์และเห็นชอบกับการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ในอันที่จะก่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ อันนำไปสู่ความยั่งยืนสืบไป คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3  29 กรกฎาคม 2565

ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าวพิษณุโลก

Related posts