แพทย์ทหารเตือนภัยร้ายช่วงหน้าร้อน “โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke)”

แพทย์ทหารเตือนภัยร้ายช่วงหน้าร้อน “โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke)”
     จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) เกิดจากภาวะที่ร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายเป็นอาการที่พบได้ในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้หลายพื้นที่มีอากาศร้อนอบอ้าว มีค่าดัชนีความร้อนพุ่งสูงขึ้น และอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 44.5 องศาเซลเซียส ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อนได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นอาการเสี่ยงต่อผู้ที่ทำงาน หรืออยู่ในสถานที่ที่มีแดดจัด หรือมีอากาศร้อนอบอ้าว รวมถึงกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจโรคความดันโลหิตสูง โรคปอด เป็นต้น อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงเด็ก และหญิงตั้งครรภ์ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน
     1. โรคฮีทสโตรก ส่งผลกระทบต่อร่างกาย พบอาการดังนี้ ตัวร้อน วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นแรง เป็นลม หรือเกิดอาการชัก พูดจาสับสนไม่รู้เรื่อง
     2. วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นอาการฮีทสโตรก 1) รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่มหรือที่ที่มีอากาศถ่ายเท จัดร่างกายให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าออกให้พอหลวม 2) ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามร่างกาย ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน 3) หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้โคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ 4) รีบนำผู้ป่วยส่งไปยังโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งได้ที่ สายด่วน 1669 ทันที
CREATOR: gd-jpeg v1.0 (using IJG JPEG v80), quality = 82
     3. การป้องกันโรคฮีทสโตรก มีข้อควรปฏิบัติดังนี้ 1) ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หากสูญเสียเหงื่อมาก ควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ 2) สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อน และไม่รัดแน่นจนเกินไป หลีกเลี่ยงใส่เสื้อ ผ้าสีทึบดํา เพราะจะสะสมความร้อนได้ 3) ไม่ควรอยู่กลางแจ้งคนเดียว ควรอยู่เป็นกลุ่ม เพราะหากมีอาการผิดปกติ จะได้มีคนช่วยเหลือได้ทัน 4) หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัดต่อเนื่องนานเกินไป หรือในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก 5) หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6) ห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะรถอาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นภายใน 10 – 20 นาที หากปิดเครื่องปรับอากาศ
     ในการนี้ พลโท กิตติพงษ์  แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และคณะแพทย์ทหาร มีความห่วงใยโรคภัยดังกล่าว ต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 รวมทั้งพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งหากมีอาการเจ็บป่วยดังกล่าว ขอให้รีบไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว
     จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือทราบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพภาคที่ 3 โดย โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือประชาชน ในยามวิกฤตทุกโอกาส
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว

Related posts