“พิพัฒน์” เปิดเวทีระดมสมอง เสนอแนวทางสร้างหลักประกันจ่ายค่าชดเชยลูกจ้าง เดินหน้าปฏิรูประบบแรงงานอย่างเป็นธรรม
—————————————-
9 เมษายน 2568 – นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดโครงการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น “แนวทางการจัดให้มีหลักประกันการจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง กรณีนายจ้างเลิกจ้าง” ณ ห้องจูปิเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ในโอกาสนี้ มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรี น.ส. บุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน และเรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาองค์การนายจ้าง-ลูกจ้าง พรรคการเมืองสำคัญ กรมบัญชีกลาง สศค. สภาพัฒน์ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม และผู้แทนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ พรรคการเมือง องค์กรนายจ้าง-ลูกจ้าง และภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า 300 คน
นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า การถูกเลิกจ้างแบบกะทันหัน โดยไม่มีค่าชดเชยตามสิทธิ เป็นความทุกข์ของลูกจ้างที่ไม่ควรถูกมองข้าม วันนี้กระทรวงแรงงานจึงเดินหน้าสร้าง “หลักประกันการจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง” ให้เกิดขึ้นจริง โดยการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน ที่จะช่วยเยียวยาลูกจ้างในเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอคดีความยืดเยื้อ
โครงการสัมมนาครั้งนี้จึงมีเป้าหมายสำคัญในการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สามารถ บังคับใช้ได้จริง ลดข้อร้องเรียน และสร้างความมั่นคงให้แก่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง โดยจะรวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
กระทรวงแรงงานโดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เสนอแนวทางต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ว่าจะเริ่มจัดเก็บเงินสมทบนายจ้างภายใต้ “กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง” ในวันที่ 1 ตุลาคม 2568 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของระบบที่ทุกฝ่ายมั่นใจได้ว่า “แรงงานไทยไม่ถูกทอดทิ้ง”
สาระสำคัญของกองทุนฯนี้ นายจ้างสมทบเงินเข้ากองทุน ตามสัดส่วนที่เหมาะสม หากเกิดเหตุปิดกิจการ กองทุนจะจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้นให้ลูกจ้างทันที โดยรัฐจะดำเนินการเรียกคืนจากนายจ้างภายหลัง ผ่านช่องทางกฎหมาย ผมคิดว่าไม่มีใครตั้งใจปิดกิจการ แต่เราต้องพร้อมรับมือ และดูแลคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสิ่งที่เรากำลังทำ ไม่ใช่แค่การเยียวยาแต่คือการปฏิรูประบบแรงงานให้เป็นธรรม ยั่งยืน และทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ย้ำว่า กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ
และจะเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อให้เสียงของพี่น้องแรงงานกลายเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า การสัมมนาในวันนี้ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ช่วยกันออกแบบระบบนี้ให้ดีที่สุด เพื่อความมั่นคงของแรงงานไทยในวันนี้ และอนาคต
“แม้จะมีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างช่วยเยียวยาเบื้องต้น แต่ลูกจ้างจำนวนมากยังไม่ได้รับค่าชดเชยครบตามสิทธิที่ควรได้รับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เราจึงต้องหากลไกใหม่ที่สร้างหลักประกันให้ลูกจ้างได้จริง และไม่เป็นภาระแก่รัฐเกินจำเป็น” – นายพิพัฒน์ กล่าว
เรือเอก สาโรจน์ กล่าวว่า การเปิดเวทีในวันนี้ ถือเป็นก้าวแรกของการร่วมออกแบบกลไกที่สามารถ “จ่ายจริง คุ้มครองจริง” ด้วยการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวางและรอบด้าน เพื่อให้มาตรการที่ได้จากเวทีนี้ “ไม่ใช่เพียงแค่ข้อเสนอ” แต่เป็นแนวทางที่นำไปใช้ได้จริงในเชิงกฎหมายและนโยบาย
พร้อมย้ำว่า ระบบแรงงานไทยต้องไม่ปล่อยให้ลูกจ้างเผชิญความเสี่ยงลำพังในวันที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจ “การมีหลักประกันค่าชดเชยที่ชัดเจน คือหัวใจของแรงงานที่มั่นคง” ทั้งนี้ แนวทางที่ได้รับจากการสัมมนาจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบคุ้มครองแรงงานไทยให้ทันสมัย เท่าเทียม และตอบโจทย์ประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง