คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการบริหารจัดการหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทย ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง

คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการบริหารจัดการหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทย ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568
เวลา 09.30 นาฬิกา
คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา
นำโดย นายเตชสิทธิ์ ชูแก้ว รองโฆษกคณะกรรมาธิการ และนายวิรัตน์ ธรรมบำรุง รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง
พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการการบริหารจัดการหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทย เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการนาของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ณ กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว

โดยมี เกษตรกรและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการพืชไร่/นาข้าว รวมทั้งข้อมูลการให้สินเชื่อแก่เกษตรกร เกษตรกรในอำเภอหัวไทรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมถือได้ว่าอำเภอหัวไทรเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของจังหวัดนครศรีธรรมราช และได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว “ไข่มดริ้น” ซึ่งการบริหารจัดการข้าว กลุ่มเมล็ดพันธุ์บ้านแหลมได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่ายให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี และการผลิตเมล็ดพันธุ์มีฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต แบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้ 1) เดือนมกราคม
2) เดือนมิถุนายน และ 3) เดือนตุลาคม


สมาชิกเกษตรกรผู้ทำนาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว อาทิ กข 41 กข 85 และปทุมธานี 1 โดยมีพื้นที่การเพาะปลูก จำนวน 1,181 ไร่ และมุ่งเน้นให้การผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ ได้ผลผลิตตามเป้าหมาย และเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้ เกษตรกรกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านแหลมประสบกับปัญหาต่าง ๆ อาทิ ภัยธรรมชาติ แมลงศัตรูข้าว และการปนเปื้อนของวัชพืชทำให้ข้าวไม่ผ่านมาตรฐานปัจจัยการผลิต
ดังนั้น เกษตรกรอยากให้ช่วยในเรื่องต้นทุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย รวมถึงราคาสินค้า

ทั้งนี้ เกษตรอำเภอได้ให้ความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งได้มีการส่งเสริมการแปรรูป การบริหารจัดการน้ำซึ่งขาดแคลนในช่วงน้ำแล้งด้วยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมในด้านต่าง ๆ ให้เพื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

เวลา 12.00 นาฬิกา
คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการการบริหารจัดการหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทย เดินทางไปศึกษาดูงานการเลี้ยงปลานิล ณ แปลงใหญ่ปลานิลผู้ใหญ่บ้านเจริญ ปังเอื้อน เพื่อศึกษาดูงานการเลี้ยงปลานิล โดยมีเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ปลานิลให้การต้อนรับ พร้อมทั้งให้ข้อมูลในการบริหารจัดการและการจัดจำหน่าย

เวลา 13.00 นาฬิกา
คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการบริหารจัดการหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทย เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเพิ่มรายได้ และการลดต้นทุนด้านการประมง ณ ไร่ทรัพย์ทวี ตำบลคลองกระบือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

โดยมี นายกิตติพงษ์ รองเดช นายอำเภอปากพนัง ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรให้การต้อนรับ และรับฟังการบริหารจัดการด้านประมง แนวทางการเพิ่มรายได้ และการลดต้นทุน ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไข ข้อมูลปัญหาหนี้สินและรายได้ด้านการปศุสัตว์จากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่

จากนั้น ผู้แทนเกษตรกรผู้ทำประมงได้ให้ข้อมูลว่าการประกอบอาชีพประมงของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แหล่งน้ำที่ใช้ในการประกอบอาชีพมีความตื้นเขิน แหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่ได้รับการดูแล การบริหารจัดการน้ำไม่ได้คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม

ในการนี้ เกษตรกรมีความประสงค์ให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการบริหารจัดการน้ำและด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในทุกกลุ่มอาชีพเพื่อให้กลุ่มประมงมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จะสัมฤทธิ์ผลได้นั้นต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน รวมถึงความร่วมมือจากเกษตรกรอย่างพร้อมเพรียงกัน

เวลา 15.00 นาฬิกา
คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา
พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการการบริหารจัดการหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทย เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการส้มโอทับทิมสยาม (GI) และการบริหารจัดการหนี้สินของกลุ่มเกษตรกร ณ ศูนย์ส้มโอทับทิมสยาม สวนอัมพร อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

โดยมีนายปัญญา ประดิษฐสาร เกษตรจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรให้การต้อนรับ ทั้งนี้ นางสาวปิยะมาส สังข์ชัย เกษตรอำเภอปากพนัง ได้ให้บรรยายสรุปเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรในอำเภอและความเป็นมาของศูนย์ส้มโอทับทิมสยามว่า มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 248,000 ไร่ มีครัวเรือนเกษตรกว่า 9,400 ครัวเรือน เป็นพื้นที่การเกษตรกว่า 150,000 ไร่ ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอทับทิมสยาม เป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 4,293 ไร่ จำนวน 836 ครัวเรือน

จากนั้น นางอัมพร สวัสดิ์สุข ประธานศูนย์ส้มโอทับทิมสยามได้ให้ข้อมูลว่า เริ่มมีการปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2544 ด้วยประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาสร้างองค์ความรู้ ดำเนินการบริหารจัดการพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการผลิตส้มโอและการประยุกต์ใช้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการประสานความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญามาพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับการจัดการสวนที่ดี ประสบความสำเร็จจนได้ขึ้นทะเบียนจดลิขสิทธิ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ปรับเปลี่ยนบริบทการเกษตรให้สอดคล้องกับความสามารถและความเหมาะสมของภูมิศาสตร์ในเขตพื้นที่ ในนาม ”ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง“

ต่อมา ผู้แทนเกษตรกรแปลงใหญ่ส้มโอ ได้กล่าวถึงสภาพปัญหาที่พบในปัจจุบัน อาทิ 1) ภัยทางธรรมชาติ ทั้งปัญหาน้ำท่วม และปัญหาน้ำแล้ง 2) การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 3) ปัญหาด้านการตลาดในการจำหน่ายและการแปรรูป

ทั้งนี้ การบริหารจัดการหนี้สินของเกษตรกรจะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรต้องคำนึงถึงการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพตามความถนัดและความเหมาะสมของเกษตรกรและพื้นที่การทำการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

Related posts