“สรรเพชญ” เร่งจัดทำข้อเสนอแก้ปัญหาซ้ำซากในสงขลา เตรียมยื่นต่อ ครม. สัญจร 18 ก.พ. นี้

“สรรเพชญ” เร่งจัดทำข้อเสนอแก้ปัญหาซ้ำซากในสงขลา เตรียมยื่นต่อ ครม. สัญจร 18 ก.พ. นี้

 

วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2568) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาซ้ำซากในพื้นที่จังหวัดสงขลา และเตรียมยื่นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ซึ่งจะจัดขึ้นในจังหวัดสงขลา วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568

นายสรรเพชญ ระบุว่า ตนได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชนมาโดยตลอด และพบว่าหลายปัญหายังคงเป็นอุปสรรคต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน แม้จะมีความพยายามแก้ไข แต่ยังไม่มีแนวทางที่เป็นรูปธรรม ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวสงขลาอย่างต่อเนื่อง

“ผมขอเรียนไปยังท่านนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน” นายสรรเพชญ กล่าว

“7 ปัญหาสำคัญ ที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข”
1.) “ความล่าช้าของโครงการอควาเรียมหอยสังข์” โครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรือ “อควาเรียมหอยสังข์” ซึ่งตั้งอยู่ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อำเภอเมืองสงขลา มีความล่าช้าในการดำเนินการมานานกว่า 16 ปี ใช้งบประมาณไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ยังคงเป็นอาคารร้างและไม่มีความคืบหน้า ปัจจุบันโครงการอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นายสรรเพชญ ระบุว่า ได้ใช้กลไกของรัฐสภาในการผลักดันให้เกิดความคืบหน้า ทั้งการตั้งกระทู้ถาม การหารือในสภา และการทำหนังสือติดตามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน พร้อมเตือนว่า หากปล่อยให้โครงการนี้ค้างคา อาจกลายเป็น “อนุสาวรีย์แห่งการโกง” ที่สร้างความผิดหวังให้ชาวสงขลา

2.) “ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากบริเวณห้าแยกน้ำกระจาย” จุดนี้เป็นพื้นที่รับน้ำจากเขาเทียมดา และมีปัญหาการระบายน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกครั้งที่ฝนตกหนัก ส่งผลกระทบต่อการสัญจรและทรัพย์สินของประชาชน
แม้จะมีการตั้งกระทู้ถามต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และส่งหนังสือทวงถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ปัญหายังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง นายสรรเพชญจึงเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานและระบบระบายน้ำ โดยเฉพาะบนทางหลวงหมายเลข 407 ตอน ควนหิน – เขารูปช้าง ระหว่าง กม.21+300 – กม.21+800 ระยะทาง 0.5 กิโลเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในจุดนี้

3.) “ปัญหาการรับซื้อคืนเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ IUU” หลังจากประเทศไทยถูกบังคับใช้มาตรการตรวจสอบและควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ส่งผลให้เรือประมงจำนวนมากต้องหยุดกิจการ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการรับซื้อคืนเรือประมงที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ชาวประมงสูญเสียรายได้และขาดความมั่นคงทางอาชีพ
นายสรรเพชญ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาทางออกที่เป็นธรรมและยั่งยืนให้แก่ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ

4.) “ปัญหาผลกระทบจากลิงในพื้นที่” ปัญหาลิงสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในหลายพื้นที่ของจังหวัดสงขลา ทั้งการบุกรุกบ้านเรือน ทำลายพืชผลทางการเกษตร และก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน นายสรรเพชญ ระบุว่า จำเป็นต้องมีมาตรการบริหารจัดการประชากรลิงอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้โดยไม่เกิดปัญหา

5.) “ปัญหาการโอนเงินเยียวยาน้ำท่วม 9,000 บาทที่ล่าช้า” จากเหตุอุทกภัยที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยการเยียวยา ครัวเรือนละ 9,000 บาท แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการโอนเงินเยียวยาดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากยังคงเผชิญกับความยากลำบาก
นายสรรเพชญ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่พบว่า ประชาชนหลายครัวเรือน ต้องนำทรัพย์สินไปจำนำ หรือกู้ยืมเงินเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน เนื่องจากไม่มีเงินสำรอง ขณะที่บางครอบครัวต้องย้ายออกจากบ้านที่ได้รับความเสียหาย เพราะไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
“ประชาชนเดือดร้อนกันมาก หลายคนต้องดิ้นรนหาเงินจากแหล่งอื่นมาใช้ก่อน เพราะเงินเยียวยายังไม่ได้รับการโอน ผมขอให้รัฐบาลเร่งรัดการจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความทุกข์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ” นายสรรเพชญกล่าว

6.) “การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เมืองเก่าสงขลา และการแก้ไขปัญหาที่จอดรถ” เมืองเก่าสงขลาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่กำลังได้รับการผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และอยู่ใกล้กับจุดท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด
ปัจจุบัน เมืองเก่าสงขลา กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังขาดมาตรการส่งเสริมและพัฒนาที่เพียงพอ รวมถึงปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสะดวกของนักท่องเที่ยว
นายสรรเพชญ เสนอให้รัฐบาลเร่ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและจัดหาพื้นที่จอดรถเพิ่มเติม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมและโครงการสนับสนุนให้เมืองเก่าสงขลาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยเร็วที่สุด

7.) “ผลักดันให้หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub)” หาดใหญ่ ถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ตอนล่าง เป็นเมืองที่มีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุน เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ยังขาดนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐในการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ให้เป็น Financial Hub หรือศูนย์กลางทางการเงินของภาคใต้ โดยการดึงดูดสถาบันการเงินและบริษัทด้านการลงทุน ให้เข้ามาตั้งสำนักงานและให้บริการในระดับภูมิภาค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและการเงิน เช่น ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนที่สะดวกสำหรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว การยกระดับหาดใหญ่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการเงิน เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้หาดใหญ่สามารถก้าวขึ้นเป็น ศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน ที่สำคัญของภูมิภาค สร้างโอกาสในการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจของสงขลาและภาคใต้ตอนล่างอย่างยั่งยืน

การประชุม ครม. สัญจร ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลจะได้รับฟังปัญหาในพื้นที่ภาคใต้โดยตรง โดยเฉพาะปัญหาที่ยืดเยื้อและยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประชาชนในสงขลาต่างจับตาดูว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญและมีมาตรการอย่างไรในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ หรือจะปล่อยให้เป็นเพียงแค่ข้อเสนอที่ถูกเก็บไว้ในเอกสารอีกครั้งหนึ่ง

///

Related posts