ประธานวุฒิสภามอบหมายประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศให้การรับรองสมาชิกรัฐสภานิวแคลิโดเนียและผู้แทนสมัชชารัฐสภากลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (APF)
วันที่ 28 มกราคม 2568 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 204 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) นายนิรัตน์ อยู่ภักดี ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนประธานวุฒิสภา ให้การรับรองนายไวมูอา มูไลวา (Mr. Vaimu’a Muliava) สมาชิกรัฐสภานิวแคลิโดเนียและผู้แทนสมัชชารัฐสภา กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (APF) ที่มาเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อหารือแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างรัฐสภากลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส โดยมีนายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ รองเลขานุการคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ รองศาสตราจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ นางสาวแก้วเกศร์ ถาวรพันธ์ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ร่วมให้การรับรอง
.
ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ กล่าวว่าภาษาเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศสมีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐสภาไทยกับรัฐสภากลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส วุฒิสภาไทยเล็งเห็นความสำคัญของภาษาฝรั่งเศส โดยมีกลุ่มงานภาษาฝรั่งเศส สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมีการจัดทำเว็บไซต์วุฒิสภาเป็นภาษาฝรั่งเศส เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและภารกิจของวุฒิสภาด้วย
โอกาสนี้ขอขอบคุณ APF ที่ให้ความร่วมมือกับวุฒิสภาไทยในการส่งเสริมการใช้ภาษาฝรั่งเศสและชื่นชมที่สนับสนุนความร่วมมือทั้งด้านการฝึกอบรมภาษาฝรั่งเศส และความร่วมมือทางวิชาการและด้านการพัฒนาร่วมกับหลายประเทศ ปัจจุบันมีนักเรียนและนักศึกษาไทยต้องการเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มมากขึ้น การพบปะกันในวันนี้ทางคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ จะนำประเด็นต่าง ๆ ไปหารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้จัดการเรียนภาษาฝรั่งเศสควบคู่กับภาษาอังกฤษให้นักเรียนไทยตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัย เพื่อให้สามารถสื่อสารกับประเทศสมาชิกที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสได้ รวมทั้งวุฒิสภาไทยยินดีให้การสนับสนุนความร่วมมือกับ APF และพร้อมดำเนินการในมิติเชิงรัฐสภาเพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐสภาไทยกับ APF อย่างใกล้ชิด
.
ด้านสมาชิกรัฐสภานิวแคลิโดเนียและคณะผู้แทน APF ขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างดี เชื่อมันว่าการพบปะกันครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกัน และจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นต่อไป พร้อมกล่าวว่าประเทศสมาชิก APF แม้จะมีความแตกต่างหลากหลายทว่ามีเคารพซึ่งกันและกันโดยมีภาษาฝรั่งเศสเป็นสื่อกลาง นอกจากนี้ APF มุ่งสร้างความสัมพันธ์ระดับพหุภาคีเพื่อสร้างความมั่งคั่งของกลุ่มประเทศสมาชิก นอกจากภาษาแล้ว APF ยังให้คุณค่าทางด้านประชาธิปไตยและส่งเสริมสิทธิสตรีและยุวสมาชิกรัฐสภา
สำหรับการจัดสัมมนาร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมัชชารัฐสภากลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (APF) และศูนย์รัฐสภาแห่งเอเชีย (PCAsia) จัดขึ้นที่รัฐสภาไทย ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับการใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสาร