กรมทางหลวง ฟังเสียงประชาชนรอบ 2 เดินหน้าปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 1026 ช่วง บ.ผาเวียง-บ.หนองห้า เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง จ.น่าน

กรมทางหลวง ฟังเสียงประชาชนรอบ 2 เดินหน้าปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 1026 ช่วง บ.ผาเวียง-บ.หนองห้า เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง จ.น่าน

 

วันนี้ (17 มกราคม 2568) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย
จังหวัดน่าน นางพิมลพันธุ์ จันโทภาส นายอำเภอนาน้อย เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (การสัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงบนทางหลวงหมายเลข 1026 ตอน บ.ผาเวียง – บ.หนองห้า เพื่อนำเสนอสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ ผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน และแผนการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาของโครงการฯ จากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม

โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้นำเสนอสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ สำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บนทางหลวงหมายเลข 1026 ประมาณ กม.17+000 และจุดสิ้นสุดบนทางหลวงหมายเลข 1026 ประมาณ กม.31+100 มีระยะทางประมาณ 14.1 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดน่าน จำนวน 2 อำเภอ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลส้าน อำเภอเวียงสา และตำบลน้ำตก ตำบลศรีษะเกษ
อำเภอนาน้อย โดยปัจจุบันถนนโครงการมีขนาด 2 ช่องจราจร แต่บริเวณจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของถนนโครงการเป็น 4 ช่องจราจร ในการพิจารณาการพัฒนาโครงการ จึงมีการศึกษาความเหมาะสมของจำนวนช่องจราจรของถนนโครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

รูปแบบที่ 1 ถนน 3 ช่องจราจร โดยจะแบ่งช่องจราจรสำหรับรถด้านขึ้นเขา 2 ช่องจราจร เพื่อให้รถสามารถเร่งแซงกันขึ้นเขาได้ ส่วนรถด้านลงเขามี 1 ช่องจราจร โดยมีเกาะกลางกั้นเพื่อความปลอดภัย ซึ่งรูปแบบนี้ทำให้ต้องมีการจัดการจราจรโดยมีการสลับช่องจราจรไป-มา ระหว่างด้านขึ้นเขา และด้านลงเขา
รูปแบบที่ 2 ถนน 4 ช่องจราจร โดยจะแบ่งช่องจราจรสำหรับรถด้านขึ้นเขาและรถด้านลงเขา ฝั่งละ 2 ช่องจราจร โดยมีเกาะกลางกั้นเพื่อความปลอดภัย
ซึ่งผลการพิจารณาจำนวนช่องจราจรตามหลักเกณฑ์ในด้านต่างๆ พบว่า รูปแบบที่ 2 ถนน 4 ช่องจราจร มีความเหมาะสมที่สุด โดยมีช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ข้างละ 2 ช่องจราจร มีไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตรมีเกาะกลางแบ่งทิศทางจราจร กว้าง 2.60 เมตร เพื่อสามารถรองรับรถทั้งสองทิศทางที่ใช้ความเร็วที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความคล่องตัว และรองรับปริมาณจราจรในอนาคต
ส่วนการคัดเลือกรูปแบบเกาะกลางของโครงการสำหรับพัฒนาโครงการ มี 4 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 เกาะกลางแบบเกาะสี (Paint Median) จะเป็นเกาะกลางที่แบ่งทิศทางจราจรแบบทาสีตีเส้นบนผิวจราจร ความช่องจราจร 3.50 เมตร และไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร มีเกาะกลางแบบทาสีตีเส้น กว้าง 2.60 เมตร (รวมไหล่ทางด้านใน)
รูปแบบที่ 2 เกาะกลางแบบราวกันอันตราย จะเป็นเกาะกลางแบบราวกั้น ติดตั้งที่ผิวจราจรบริเวณ
เกาะกลาง ความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร และมีเกาะกลางแบบราวเหล็กกันอันตราย กว้าง 2.60 เมตร (รวมไหล่ทางด้านใน) เพื่อป้องกันไม่ให้ข้ามเกาะตัดกระแสจราจร ซึ่งจะกำหนดจุดกลับรถเป็นระยะ

 

รูปแบบที่ 3 เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median) เป็นเกาะกลางที่มีกำแพงคอนกรีตติดตั้งบริเวณเกาะแบ่งทิศทางจราจรหรือป้องกันไม่ให้รถวิ่งข้ามเกาะตัดกระแสจราจร ความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร และไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร มีเกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีตกว้าง 2.60 เมตร (รวมไหล่ทางด้านใน)
รูปแบบที่ 4 เกาะกลางแบบยก (Raised Median) เป็นเกาะกลางแบบถมดิน เพื่อแบ่งทิศทางจราจร
เพื่อป้องกันไม่ให้รถวิ่งข้ามเกาะ ตัดกระแสจราจรความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร และไหล่ทางด้านนอกกว้าง
2.50 เมตร มีเกาะกลางแบบยกถมดิน กว้าง 4.60 เมตร (รวมไหล่ทางด้านใน) โดยความกว้างของเกาะสามารถออกแบบช่องจราจรเพื่อรอเลี้ยวกลับรถได้อย่างเพียงพอ ไม่กีดขวางช่องจราจรของรถทางตรงในบริเวณจุดกลับรถและ
ทางแยกต่างๆ

ซึ่งจากผลการพิจารณารูปแบบเกาะกลาง พบว่า รูปแบบที่ 3 เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median) มีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากสภาพภูมิประเทศทั้งสองข้างทางเป็นภูเขาสลับเขาสูง ซึ่งเกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต จะช่วยป้องกันรถที่ทิศทางสวนกันชนกันได้ดีที่สุด เหมาะกับการจราจรที่ใช้ความเร็วสูงหรือในบริเวณทางโค้ง และยังสามารถขยายช่องจราจรเพิ่มเติมด้านข้างได้ง่ายในอนาคต
สำหรับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ สำรวจและเก็บตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โดยมีประเด็นที่ศึกษาครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดลอมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งจะนำไปศึกษาต่อในขั้นรายละเอียด (EIA) เพื่อเตรียมกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

   

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจาก
ทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีกำหนดจัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ในช่วงประมาณเดือนเมษายน 2568 และกำหนดจัดประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม 2568 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ เว็บไซต์ www.ทล1026ผาเวียง-หนองห้http://xn--g4c.com/ และแฟนเพจเฟซบุ๊ก : ทล1026ผาเวียง-หนองห้า หรือ Line Official : @412pqbgd

 

/บุญยงค์ สดสอาด นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน/เอกเอเชีย รายงาน

Related posts