‘พิพัฒน์’ ถก รัฐมนตรีอิสราเอล เปิดโควตาจ้างแรงงานไทยเฉพาะเกษตรปี 68 เพิ่มอีก 13,000 คน พร้อมให้ระบุแยกกลุ่มเกษตร ปศุสัตว์ เพื่อส่งตรงความต้องการ
.
วันที่ 14 มกราคม 2568 เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นอิสราเอล นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน นายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) และคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน หารือข้อราชการร่วมกับ Mr. AVI DICTER (อาวิ ดิคเตอร์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ณ นครเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล
.
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผมและคณะ เดินทางไปโมชาฟ Beit Hilkia โดยมี Mr. Avi Dicter รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ให้การต้อนรับเพื่อเยี่ยมชมฟาร์ม Leafresh ซึ่งที่นี่เป็นฟาร์มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ พร้อมพบกับตัวแทนแรงงานไทย 15 คน ที่ได้เรียนรู้การเกษตรอัจฉริยะ เป็นการผลิตและจำหน่ายผักสดเพื่อสุขภาพที่ปลูกในโรงเรือนที่มีลักษณะเฉพาะ
ใช้เทคโนโลยีสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ อาทิ จุดวัดค่าคุณภาพน้ำซึ่งควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ ประมวลผล ควบคุมระดับอุณหภูมิ ใส่ปุ๋ยและสารอาหาร หลังจากนั้นได้หารือร่วมกับ Mr. Avi Dicter รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยมีผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอล เข้าร่วมด้วย
.
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานมีความพร้อมที่จะจัดส่งแรงงานไทยมาทำงานในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล โดยขอให้ฝ่ายอิสราเอลพิจารณาจัดส่งความต้องการแรงงานจากนายจ้างแยกเป็นกลุ่มนายจ้างภาคเกษตร และภาคปศุสัตว์ เพื่อให้กรมการจัดหางานสามารถจัดส่งคนงานได้ตรงความต้องการของนายจ้าง เพื่อช่วยให้แรงงานไทยได้ทำงานตรงกับความสามารถ ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง มีรายได้ สามารถส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวที่เมืองไทยได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการแก้ปัญหาแรงงานหลบหนีนายจ้างไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายได้อีกด้วย โดยฝ่ายอิสราเอลเห็นด้วยและพร้อมจะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ PIBA ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักเข้ามาช่วยดำเนินการ
.
ด้าน Mr. Avi Dicter รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร กล่าวว่า ผมขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทย และคณะ ที่มาเยือนอิสราเอลและขอแจ้งให้ทราบว่าโควตาการจ้างแรงงานไทยในภาคเกษตรเข้ามาทำงานในรัฐอิสราเอลในปี 2568 เพิ่มอีก 13,000 อัตรา
.
“ขอให้ฝ่ายอิสราเอลทราบว่ารัฐบาลไทยมีความห่วงใยพี่น้องแรงงานไทยที่ถูกจับกุมตัวไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยยังมีแรงงานที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวอีก 6 ราย ขอให้ทางการอิสราเอลช่วยติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย รวมถึงกรณีนายนิสันต์ มีรัมย์ ซึ่งเสียชีวิตขณะทำงานอยู่ในเขตเมตุลา ทางภาคเหนือของอิสราเอล เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 โดยขอให้ฝ่ายอิสราเอลติดตามสิทธิประโยชน์ให้ได้รับเช่นเดียวกับแรงงานที่เสียชีวิตจากภัยสงคราม” นายพิพัฒน์ กล่าวปิดท้าย
.
จากนั้น นายพิพัฒน์ และคณะ ได้เยี่ยมชมฟาร์ม Agrivoltaics โดยฟาร์มแห่งนี้ได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2567 บนพื้นที่ประมาณ 94 ไร่ เป็นฟาร์มเกษตรพลังงานสีเขียวในทุ่งหญ้าโดรัล ได้นำวิสัยทัศน์ของการเกษตรพลังงานแสงอาทิตย์มาสู่ประเทศอิสราเอลผ่านการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรขั้นสูง และพลังงานแสงอาทิตย์ ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ การรวมทั้งสองระบบนี้เข้าด้วยกัน ทำให้ช่วยเพิ่มผลผลิตพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนการจ้างงานนายจ้างจ้างแรงงานทำงานในฟาร์มเกษตร และฟาร์มวัว รวม 74 คน แรงงานไทยมีรายได้ประมาณเดือนละกว่า 60,000 บาท (ยังไม่รวมค่าล่วงเวลา) โดยสามารถส่งเงินกลับให้ครอบครัวที่เมืองไทยประมาณเดือนละ 30,000 – 40,000 บาท