“ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย” โรงเรียนต้นแบบในพื้นที่ภาคเหนือ ปีงบประมาณ 2568

“ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย” โรงเรียนต้นแบบในพื้นที่ภาคเหนือ ปีงบประมาณ 2568
 
     สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการจัดทำโครงการ “ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย” โรงเรียนต้นแบบในพื้นที่ภาคเหนือ ตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่อยู่บนพื้นที่สูง ยังขาดแคลนแหล่งอาหารที่ใช้ในการบริโภค เพื่อเป็นอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน ได้รับสารอาหารโปรตีนที่ดี มีคุณค่าทางโภชนาการ ตลอดจนชุมชนใกล้เคียงก็ยังคงขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก
 
     กองทัพภาคที่ 3 จึงจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัย และการเลี้ยงสัตว์ เพื่อผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย ในการนำไปใช้ในการประกอบอาหาร อันจะทำให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนทั้งห้าหมู่ ทำให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนที่อยู่รอบโรงเรียนมาศึกษานำไปปฏิบัติในชุมชน โดยในปีงบประมาณ 2567 มีจำนวน 117 โรงเรียน และได้เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2568 อีกจำนวน 4 โรงเรียน ดังนี้.-
1. โรงเรียนบ้านแม่แสะ  ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
2. โรงเรียนแม่จะเราวิทยาคม ตำบลแม่จะเรา อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
3. โรงเรียนโมโกรวิทยาคม ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
4. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 22 ตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 121 โรงเรียน
 
     โดยในห้วงที่ผ่านมา กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดกำลังพลเข้าไปประสานงาน สำรวจข้อมูล ร่วมวางแผนการดำเนินการโครงการร่วมกับโรงเรียน และดำเนินการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ส่วนพันธุ์พืช, พันธุ์สัตว์ และพันธุ์ปลา ได้รับจากโครงการทหารพันธุ์ดี และศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้.-
ขั้นตอนที่ 1 วางแผนการสำรวจข้อมูล, การวางแผนการดำเนินงาน, การเสนอแผนงาน และความต้องการงบประมาณในการสนับสนุนตามแผนงานของโรงเรียน
 
ขั้นตอนที่ 2 การปฏิบัติตามแผนงาน, การดำเนินการตามแผน, การประสานงานกับส่วนราชการ, การบันทึกสถิติ และผลการดำเนินงาน
ขั้นตอนที่ 3 การพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน, การประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ
สำหรับความคืบหน้าของแต่ละโรงเรียนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร, โรงเรียน, อาจารย์, นักเรียน, ผู้ปกครอง, ส่วนราชการ, ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ได้มีพัฒนาการมาตามลำดับขั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการอย่างชัดเจน เพื่อให้มีความมั่นคงในด้านอาหารแก่นักเรียน และชุมชนโดยรอบโรงเรียน ตามพระราชดำริ ให้เกิดความยั่งยืนแก่สังคมไทยสืบไป
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว

Related posts