ประธานวุฒิสภาให้การรับรองรองประธานสถาบันการปกครองแห่งชาติจีน
.
วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 204 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ให้การรับรองศาสตราจารย์หลี่ เหวินถัง (Prof. Li Wentang) รองประธานสถาบันการปกครองแห่งชาติจีน (China National Governance Academy: CNAG) เพื่อหารือแนวทางการแลกเปลี่ยนทรัพยากรมนุษย์ระหว่างอาเซียนกับจีน ในโอกาสนำคณะมาเยือนประเทศไทยโดยมีนายพิศูจน์ รัตนวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและการกีฬา นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬา และรองประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-จีน นายชวภณ วัธนเวคิน รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ นายวีระพันธ์ สุวรรณนามัย รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข นางสาวเข็มรัตน์ สุรเมธีมาณพ เลขานุการคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ นางสาวอมร ศรีบุญนาค เลขานุการคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ และกรรมการบริหารกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-จีน นายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ รองเลขานุการคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และนายปริญญา วงษ์เชิดขวัญ รองเลขานุการคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ร่วมให้การรับรอง
.
ประธานวุฒิสภากล่าวว่าไทยและจีนมีความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความใกล้ชิดในรอบด้าน และตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการการเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ มีความยินดีที่ทั้งสองฝ่ายร่วมประกาศให้ปี พ.ศ. 2568 เป็นปีทองแห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูต เนื่องจากครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน และยินดีที่ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 27 ที่นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้นำรัฐบาลอาเซียนและจีนมีการตกลงร่วมกันให้ปี พ.ศ. 2567- 2568 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทุนมนุษย์ระหว่างอาเซียนและจีน (ASEAN-China Year of People-to-People Exchanges) ในฐานะรองประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของไทยในการทำหน้าที่รับผิดชอบวาระนี้ มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสถาบันการปกครองแห่งชาติจีนอย่างเต็มที่ โดยไทยมีความโดดเด่นในการขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนทรัพยากรมนุษย์ระหว่างกันในสาขาต่าง ๆ ตามกรอบที่กำหนด โดยเฉพาะด้านการศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยว กีฬา วัฒนธรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเห็นว่าการแลกเปลี่ยนทรัพยากรมนุษย์ในสาขาดังกล่าวระหว่างภูมิภาคอาเซียนและจีนจะเป็นการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี อันจะส่งผลให้เกิดความผาสุกรุ่งเรือง สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคร่วมกัน
.
ด้านรองประธานสถาบันการปกครองแห่งชาติจีน กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างดียิ่ง และแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประธานวุฒิสภา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยมีความแน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน ทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” การแลกเปลี่ยนที่เป็นมิตรระหว่างประชาชนมีบทบาทสำคัญในการเกื้อหนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน การเดินทางเยือนประเทศไทยของคณะจากสถาบันการปกครองแห่งชาติจีนในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งเสริมและผลักดันการแลกเปลี่ยนทรัพยากรมนุษย์และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างทั้งสองประเทศ โดยมุ่งเน้นการขยายความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการปกครองแห่งชาติจีนและสถาบันพระปกเกล้า เพื่อร่วมกันสร้างประชาคมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป
.
นอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภาได้ร่วมหารือในประเด็นต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า การเกษตรอินทรีย์ ปรัชญาการเมืองตะวันออก และการแพทย์แผนจีน เป็นต้น