แพทย์ทหารห่วงใย “7 กลุ่มเสี่ยง กับโรคไข้หวัดใหญ่”
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในห้วงปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยกว่า 616,000 ราย มีผู้เสียชีวิต 47 ราย กลุ่มอายุที่พบการป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กแรกเกิด – 4 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 5-14 ปี และกลุ่มอายุ 15-24 ปี ตามลำดับ
โดยคาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้ เนื่องจากโรคดังกล่าว มักมีการระบาดช่วงฤดูหนาว และติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือจากการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู เป็นต้น จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หากมีอาการดังกล่าว ควรงดการเดินทาง หยุดเรียน หยุดงานจนกว่าจะหายเป็นปกติ โรคไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน ดังนั้น หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ในการนี้ พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อโรคภัยดังกล่าว จึงขอแนะนำให้ดูแลสุขอนามัยตนเอง เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 โดยการสวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้าน ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือ ขยี้ตา ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากมีอาการป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม และควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ร้อยละ 60-80 และสามารถฉีดได้ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่
1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2. เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี
3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หอบ, หืด, หัวใจ, หลอดเลือดสมอง, ไตวาย, ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
4. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
6. โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ
7. โรคอ้วน คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถเข้ารับการบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน และสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้ง หากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วย ดังอากการตามขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาล ของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว
ปรีชา นุตจัรส รายงานข่าว