นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดโปรโมชั่นเงินกู้กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน แบบดอกเบี้ย 0% ปี 2568 จัดงบประมาณ 30 ล้าน สถานประกอบกิจการ SME Upskill พนักงานให้ได้มาตรฐานเป็นแรงงานพรีเมี่ยม
นายเดชา พฤกษ์พัฒนารักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีการแข่งขันสูงมาก ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณของสินค้า การมีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพในการทำงานจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงมีนโยบายส่งเสริมให้นายจ้างและสถานประกอบกิจการมีการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่พนักงานของตนเอง เพื่อให้พนักงานมีความสามารถและมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น สามารถช่วยลดต้นทุนหรือเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้ โดยให้ความช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาทักษะให้แก่พนักงาน ด้วยการให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน แบบไม่คิดดอกเบี้ย
หรือดอกเบี้ย 0% ในวงเงินสูงสุด 1,000,000 บาท ระยะเวลาการผ่อนชำระ 1 ปี เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หรือการประเมินรับรองความรู้ความสามารถให้แก่พนักงาน ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมา มีสถานประกอบกิจการทั่วประเทศให้ความสนใจกู้ยืมและได้รับอนุมัติไปแล้ว 55 แห่ง รวมวงเงินที่ให้กู้ยืมแล้วทั้งสิ้น 30 ล้านบาท ซึ่งสำหรับปีงบประมาณ 2568 นี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดงบประมาณไว้ให้กู้ยืมอีก 30 ล้านบาท โดยสถานประกอบกิจการที่ประสงค์ขอกู้ยืมสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 สิงหาคม พ.ศ.2568
นายเดชา กล่าวต่อว่า การให้กู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานนั้น ต้องการช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557 (พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน) ที่กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ต้องพัฒนาทักษะให้แก่พนักงานของตนเองไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 กรณีที่ไม่ดำเนินการต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานตามอัตราที่กำหนด หรือ SME
ดังนั้น หากสถานประกอบกิจการนำเงินกู้ยืมจากกองทุนฯ ไปใช้ประโยชน์ในการฝึกอบรม หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หรือการรับรองความรู้ความสามารถแก่พนักงานของตนเอง จะสามารถช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินได้ โดยไม่ต้องกันงบประมาณของตนเองมาใช้จ่ายในการ Upskill พนักงาน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทักษะดังกล่าว ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ถึงร้อยละ 100 อีกทั้ง กรณีที่เป็นสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังสามารถนับจำนวนพนักงานที่ผ่านการฝึกอบรม หรือทดสอบ หรือรับรองความรู้ความสามารถ ในการยื่นประเมินเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานได้ด้วย ซึ่งเป็นผลดีกับสถานประกอบกิจการทั้งสิ้น
“นอกเหนือจากพนักงานมีความรู้ความสามารถ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การพัฒนาแรงงานในยุคใหม่ยังเป็นแนวทางนำไปสู่การมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาภายใต้ความภักดีที่มีต่อองค์กรด้วย” นายเดชา กล่าวทิ้งท้าย
สถานประกอบกิจการที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกจังหวัด หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ผ่านทางเว็ปไซต์ www.dsd.go.th/sdpaa โทร 0 2643 6039