พ่อเมืองน่าน พาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความคืบหน้าการก่อสร้างหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ที่ บริเวณจุดก่อสร้าง หอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นำคณะสื่อมวลชน และหน่วยงานต่าง ๆ เยี่ยมชมความคืบหน้าการก่อสร้างหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก โดยมี นายพรชัย ยงนพกุล ตัวแทนมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน มอบหมายให้เข้ามาช่วยดูแลบริหารงานโครงการฯ ได้อธิบายพร้อมให้ข้อมูลการก่อสร้างโครงการฯ
สำหรับโครงการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ตั้งอยู่บนพื้นที่จำนวน 9 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา ประกอบด้วย หอศิลปวัฒนธรรม อาคารหอประชุมอเนกประสงค์ อาคารบริการ สวนพฤกษศาสตร์ และลานกิจกรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2568 ซึ่งมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ฯ สนับสนุนงบประมาณ การก่อสร้างทั้งหมดรวมถึงงบประมาณ ในการบริหารจัดการตลอดอายุสัญญา มีวัตถุประสงค์การดำเนิน โครงการภายใต้หลัก “การพัฒนาที่ยั่งยืนของพลเมืองน่าน ผ่านการรับรู้ เรียนรู้ และนำไปใช้อย่างเข้าใจ” บุคลากรเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน จะส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ สร้างโอกาสความเสมอภาคเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบสำคัญของประเทศไทยต่อไป
หอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก มีพื้นที่อาคารและสิ่งก่อสร้างในโครงการ ได้แก่ อาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและส่วนบริการ อาคารหอศิลปฯ มีพื้นที่ 4600 ตรม. ภายในประกอบด้วย ห้องพิพิธภัณฑ์ในรัชการที่ 9 , ห้องประวัติศาสตร์ศาลากลางหลังเก่า, ห้องนิทรรศการหมุนเวียน และพื้นที่สร้างสรรค์ทางปัญญาที่นำเสนอในรูปแบบดิจิทัล , ห้องสมุดดิจิทัล , พื้นที่ co working space , อาคารหอประชุมพื้นที่ 3400 ตรม. ที่มีที่นั่ง 267 ที่ และชั้นบนประกอบไปด้วยห้องซ้อมดนตรีไทยเดิม ดนตรีไทยสากล และห้องซ้อมดนตรีย่อยอีก 9 ห้อง และยังมีห้องแสดงสิ่งของมีค่าที่แสดงผลงานชิ้นเอกเช่น
เครื่องเงินน่าน ,ผ้าทอมือ , เงินตราโบราณ ทั้งยังมีอาคารจอดรถ มีที่จอดรถชั้นใต้ดินซึ่งสามารถจอดรถยนต์ได้ 40 คัน และรถจักรยานยนต์ 27 คัน นอกจากนี้ ยังแบ่งพื้นที่สำหรับอาคารศูนย์เรียนรู้เมืองน่าน ลานกิจกรรมหน้าพระบรมรูปฯ ลานกิจกรรมหน้าศูนย์เรียนรู้ สวนวัฒนธรรม
การก่อสร้างในโครงการดังกล่าวได้คำนึงถึงและให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร และรองรับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ซึ่ง จ.น่าน อยุูในบริเวณที่ 3 ที่ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบ มีการติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย มาตรฐาน NFPA และรองรับ universal design อีกทั้ง ยังยึดมาตรฐานสถาบันอาคารเขียวไทย ( Trees) โดยตั้งเป้าต้องได้รับระดับ platinum
นายพรชัย กล่าวว่า ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างดำเนินการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก คืบหน้าประมาณ 30% เร็วกว่ากำหนดเวลา 5 วัน เมื่อแล้วเสร็จ สถานที่แห่งนี้ยังมีหลักสูตรรองรับให้กับ เยาวชนจังหวัดน่าน ที่สนใจเรียน ใน 4 หลักสูตรต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรดนตรีทั้งดนตรีพื้นเมือง ดนตรีไทยเดิม ดนตรีไทยสากล ดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตรา หลักสูตรสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาล้านนา หลักสูตรการทำธุรกิจ และหลักสูตรการเป็นพลเมืองดีเพื่อสังคม โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย
กระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามสัญญาอนุญาตให้มูลนิธิรักษ์ป่าน่านฯ เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินโครงการฯ และงบประมาณในการก่อสร้างอาคารใหม่ การรื้อถอน การบริหารจัดการงบบุคลากร, ค่าสาธารณูปโภค, ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช้งบประมาณของราชการแม้แต่บาทเดียว ทั้งนี้ จะไม่มีการเก็บค่าใช้บริการ ค่าสมาชิก ค่าเข้าร่วมกิจกรรม ค่าประชุม หรือค่าตอบแทนอื่นๆ จากผู้ใช้บริการใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการนำพื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วนให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ส่วนตน รวมถึงไม่มีการปล่อยเช่าพื้นที่ว่างเปล่า
ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวทิ้งท้าย จังหวัดน่าน ยังมีโครงกาพัฒนาไปพร้อมๆ กับการก่อสร้างฯ อีกหลายโครงการ เช่น การเอาเสาไฟฟ้าลงดิน การพัฒนาสวนศรีเมือง เพิ่มเลนจักรยานและช่องทางวิ่ง ตลอดช่วงเมืองเก่าน่าน ให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดด้วย
/บุญยงค์ สดสอาด ทีมงานสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน รายงาน