‘พิพัฒน์’ มอบนโยบายกระทรวงแรงงาน ปี 68 สร้างหลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจแรงงานไทยมั่นคง
วันที่ 23 กันยายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบนโยบายกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงาน ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน หนึ่งในกระทรวงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสาหรับคนทำงาน ซึ่งหนึ่งในความท้าทายของตลาดแรงงานในปัจจุบัน คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น และมีอัตราการเกิดใหม่ที่ลดลง รวมถึง การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ ที่มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตที่มากขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะที่มากยิ่งขึ้น แต่ปัจจุบัน กำลังแรงงานกว่า 60.0% ยังคงไม่มีทักษะที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ดังนั้น พวกเราจึงต้องพยายามอย่างยิ่งในการวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และกำลังแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในเวลาที่เร่งด่วน เพื่อทำให้แรงงานไทยได้รับโอกาสในการทำงานทุกช่วงวัย ได้รับผลตอบแทน สวัสดิการ สิทธิคุ้มครองในการทำงานที่พึงจะได้รับให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ และ มีหลักประกันที่ดี พร้อมเสริมสร้างสถานประกอบกิจการให้มีความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พร้อมมุ่งเน้นการพัฒนากำลังแรงงานไทยให้มีทักษะตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งในกลุ่มแรงงานในตลาดแรงงาน และ กลุ่มแรงงานในอนาคต
ซึ่งนำมาสู่การสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ซึ่งนำมาสู่การจ้างงาน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสาหรับกำลังแรงงานของประเทศไทย
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินการวางแผนการพัฒนากำลังแรงงาน
ที่สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ประเทศ นโยบายรัฐบาล และนโยบายด้านการลงทุนอย่างเร่งด่วน โดยแบ่งออกเป็น ช่วงระยะสั้น และระยะยาว โดยการนำ BIG DATA ที่มีความน่าเชื่อถือ ข้อมูลด้านอุปสงค์ และอุปทาน ของกำลังแรงงานจากระบบพยากรณ์กำลังแรงงานของกระทรวงแรงงาน มาใช้เพื่อการวิเคราะห์และวางแผนการพัฒนากำลังแรงงานในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการบริหารกำลังแรงงานทดแทนในส่วนที่ขาดแคลน
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2568 คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน จึงได้กำหนดนโยบายกระทรวงแรงงานหลัก ภายใต้แนวคิด “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจแรงงานไทยมั่นคง” ประกอบด้วย 1) หลักประกันทางสังคมเด่น คือ การดูแลสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองแรงงาน การสร้างเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมอย่างยั่งยืน 2) เน้นทักษะทันสมัย คือ การยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม เช่น ทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ ทักษะการใช้ภาษาที่ 2 และ 3 รวมถึง BCG 3) คนไทยมีงานทำ คือ การส่งเสริม และการสร้างโอกาสในการทำงานในประเทศและต่างประเทศ สำหรับคนไทยในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง กลุ่มแรงงานในอนาคต 4) สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย คือ การพัฒนากฎหมายที่มีความทันสมัย และ สอดคล้องต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์อันสูงสุดต่อแรงงานทุกคน พร้อมการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและการสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อดูแลสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่มอย่างมีมาตรฐาน และ 5) เศรษฐกิจแรงงานไทยมั่นคง คือ การทำงานอย่างบูรณาการระหว่าง หน่วยงานภายในกระทรวงแรงงาน ภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน เพื่อการขยายผลและขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล พร้อมการยกระดับกระทรวงแรงงานเป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อการสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม พร้อมการนำข้อมูลจากฐานข้อมูลทุนมนุษย์มาใช้เพื่อการวางแผนยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ จากนโยบายหลักดังกล่าว ผมขอให้หน่วยงานกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการจัดทำแผนการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นรูปธรรม พร้อมกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน วัดผลได้ ให้แล้วเสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
“กระทรวงแรงงาน เป็นที่พึ่งพิงที่สำคัญของพี่น้องประชาชนทุกคน และด้วยความร่วมมือและการทำงานบูรณาการทุกภาคส่วน ระหว่าง ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาครัฐ และ ภาคเอกชน จะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงาน เสริมสร้างโอกาสในการทำงานสำหรับประชาชนชาวไทยในทุกช่วงวัยเพื่อการมีรายได้ที่มั่นคง ลดความเหลื่อมล้า และ เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทำให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายพิพัฒน์ กล่าว
จากนั้น นายพิพัฒน์ เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้เกษียณอายุราชการ โดยในปี 2567 กระทรวงแรงงานมีผู้เกษียณอายุราชการ จำนวนทั้งสิ้น 248 คน