“พิพัฒน์” สั่งการให้ช่วยลูกจ้างตั้งฮั่วเส็งได้รับเงินตามสิทธิ มอบผู้แทนรับหนังสือร้องทุกข์จากลูกจ้าง
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
วันที่ 11 กันยายน 2567 เวลา 11.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมอบหมายให้ นายมนัส โกศล เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุมหารือ พร้อมรับหนังสือจากตัวแทนลูกจ้างบริษัท สรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด จำนวนประมาณ 30 คน ที่รวมตัวเพื่อขอให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือกรณีนายจ้างปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้าง โดยมีว่าที่ร้อยตรี สมศักดิ์ พรหมดำ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางวันทนา ณัฐพูลวัฒน์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานประกันสังคม นายพงศ์เทพ เพชรโสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 6 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ บริเวณลานด้านหน้าอาคารกระทรวงแรงงาน และห้องประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ชั้น 1
นายพิพัฒน์ เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท สรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 104 คน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ที่ผ่านมาว่า ผมได้มอบหมายให้นายมนัส โกศล เป็นผู้แทนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ร่วมหารือกับตัวแทนลูกจ้างที่มายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือเนื่องจากนายจ้างยังคงค้างจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย โดยได้กำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้างในการรับคำร้อง (คร.7) พร้อมทั้งเร่งดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับเงินตามกฎหมายทั้งในส่วนของค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม และเร่งรัดการอนุมัติเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างได้มีเงินสำหรับดำรงชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างในเบื้องต้น
ด้านนางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กสร. ได้รับทราบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทตั้งฮั่วเส็งมาตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากเคยมีการค้างจ่ายค่าจ้าง ซึ่ง กสร. ได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างมาโดยตลอด จนกระทั่งพบว่ามีการปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างในวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา กสร. โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 6 ได้ดำเนินให้ความช่วยเหลือลูกจ้างโดยการรับคำร้องของลูกจ้างบางส่วนแล้ว และมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยการเลิกจ้าง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมทั้งเงินอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 6 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองคุ้มครองแรงงาน อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกจ้างโดยรับคำร้องและเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกรอบของกฎหมายโดยเร็ว
************