กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะหุ่นยนต์และ AI ผ่าวิกฤตคุณภาพกำลังแรงงาน

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ปรับทัพพัฒนาสกิลหุ่นยนต์ ชวนสถานประกอบกิจการจัดอบรมพนักงาน เขต EEC ลุกหนักเร่งจัดคอร์สทักษะหุ่นยนต์และ AI ผ่าวิกฤตคุณภาพกำลังแรงงาน รับนโยบายรัฐมนตรีแรงงาน “พิพัฒน์” ใช้สถาบัน MARA เป็น center

 

วันที่ 1 สิงหาคม 2567 นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงปี 2563-2565 ที่ผ่านมา หลายฝ่ายมีความกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานไทย โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือตรงกับความต้องการนายจ้างและสถานประกอบกิจการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่ยังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมด้านนวัตกรรม อุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น

โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด โดยมีสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์หรือสถาบัน MARA ที่ตั้งอยู่ในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาทักษะฝีมือในสาขานี้ หลักสูตรที่ได้รับความสนใจจากภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบกิจการในพื้นที่ EEC ส่งพนักงานเข้าฝึกอบรม อาทิ สาขาช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC การเขียนโปรแกรมควบคุมระบบอัตโนมัติ การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการผลิต การใช้เทคโนโลยี IOT ในงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งในปี 2567 มีผู้เข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือในสาขาดังกล่าวแล้วจำนวน 2,294 คน

นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า สำหรับทักษะดิจิทัลและ AI ได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น อีกทั้งพบว่าผู้บริหารไทยต้องการจ้างพนักงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลและAI กรมฯ จึงมีการปรับรูปแบบการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการที่อยู่ในข้อกำหนดของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 มีการพัฒนาทักษะดิจิทัลและ AI ให้แก่พนักงานของตนเองมากขึ้น ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือที่ดีจากสถานประกอบกิจการเป็นอย่างดี จากการรับรองหลักสูตรภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริม ในปี 2567

พบว่ามีพนักงานได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัลและ AI จำนวน 3,961 คน เป็นหลักสูตร Advance เช่น การสร้างแอพพลิเคชัในการตอบคำถามอัตโนมัติแทนมนุษย์ การพัฒนาโปรแกรมบนเว็บด้วยภาษา Python หลักสูตร Intermediate เช่น การติดตั้งระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคมในระบบ 4G และ 5G การใช้โปรแกรม Microsoft Excel Advance หลักสูตร Basic เช่น ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ เทคนิคการสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว และหลักสูตร Fundamental เช่น การใช้สมาร์ทโฟนเพื่อธุรกิจออนไลน์ ยูทูบเบอร์ เป็นต้น สำหรับสถานประกอบกิจการที่ดำเนินการตามพ.ร.บ.ดังกล่าว สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมมาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ด้วย

“การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลให้กำลังแรงงานต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะใช้โอกาสเหล่านี้มุ่งสร้างกลไกต่างๆ ที่จะมีส่วนในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วน ซึ่งทักษะด้านดิจิทัลมีสื่อการฝึกอบรมไว้ใน DSD Online Training ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th ส่วนทักษะเฉพาะด้านอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สามารถเข้าฝึกอบรมได้ที่สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์หรือสถาบัน MARA ติดตามได้ที่เพจ facebook https://www.facebook.com/dsdmara อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว

Related posts