กสร. เดินหน้าส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก ดันนิคมลาดกระบัง เป็น “นิคมอุตสาหกรรมสมานฉันท์”
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
วันที่ 1 สิงหาคม 2567 นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานเปิดงานนิคมอุตสาหกรรมสมานฉันท์ พร้อมมอบป้าย “นิคมอุตสาหกรรมสมานฉันท์” และป้าย “สถานประกอบกิจการแห่งนี้ นำการบริหารแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคี อยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์” ให้แก่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และสถานประกอบกิจการ จำนวน 93 แห่ง โดยมี นางสาวอิศริยา แสงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นางสาวรัดเกล้า เชาวลิต ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรมเมเปิล ถนนศรีนครินทร์ บางนา กรุงเทพมหานคร
นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิกาและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อมุ่งมั่นสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมสมานฉันท์ โดยมุ่งเน้นแนวคิดในเรื่องการส่งเสริมความสัมพันธ์ ความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างให้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์แบบทวิภาคี เพื่อป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งด้านแรงงาน ข้อพิพาทแรงงาน รวมถึงกลไกในการระงับปัญหากรณีเกิดข้อพิพาทด้านแรงงานให้ยุติโดยเร็ว โดยได้ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ร้อยละ 80 ของจำนวนสถานประกอบกิจการในพื้นที่
แสดงความมุ่งมั่นนำการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคีไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงานเพื่ออยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์ ซึ่งในวันนี้มีสถานประกอบกิจการเข้ารับป้ายสัญลักษณ์ จำนวน 93 แห่ง โดยความร่วมมือจากสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ชมรมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กลุ่มสหภาพแรงงานลาดกระบังสัมพันธ์ ที่ร่วมดำเนินงานและขับเคลื่อนโครงการฯ จนนำไปสู่เป้าหมายการเป็นนิคมอุตสาหกรรมสมานฉันท์ต้นแบบด้านแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มุ่งหวังว่าสถานประกอบกิจการที่รับป้ายสัญลักษณ์ในวันนี้ จะนำแนวทางการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคีไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงาน และธำรงรักษานิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังสมานฉันท์ที่ได้เป็นต้นแบบด้านแรงงานสัมพันธ์ให้เกิดความสมานฉันท์อย่างยั่งยืนตลอดไป
นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะกำกับดูแลงานด้านแรงงานสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อมุ่งมั่นสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมสมานฉันท์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยได้ประกาศให้นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบแรงงานสัมพันธ์สมานฉันท์แห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการส่งเสริมต่อเนื่องในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ และในปี พ.ศ. 2567 นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ 3 ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “นิคมอุตสาหกรรมต้นแบบแรงงานสัมพันธ์สมานฉันท์” จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมแสดงความมุ่งมั่นนำการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคีไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงานแล้ว จำนวน 274 แห่ง และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา พบว่า ไม่มีข้อพิพาทแรงงานหรือข้อขัดแย้งเกิดขึ้นภายในสถานประกอบกิจการและนิคมอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ
***********