นับถอยหลัง 69 วันกับการประกาศใช้ มาตราการส่งดี (Dee-Delivery)
(ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567)
หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดเวทีประชุมเชิงปฎิบัติการ เสนอข้อมูลนโยบายร่วมกับหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ เครือข่ายสื่อ ขับเคลื่อนโยบายสาธารณะของภาคเหนือ “เปิด ก่อน จ่าย” ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องศาลจำลอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ ภาคเหนือ
นายลาภิศ ฤกษ์ดี หัวหน้าหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ข้อมูลสถานการณ์ปัญหา เรื่องร้องเรียนของหน่วยงานประจำจังหวัด 5 หน่วยในด้านสินค้าบริการทั่วไป จำนวน 508 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 9,544,762.82 บาท เรื่องร้องเรียนสินค้าออนไลน์ 200 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 1,737,250.18 บาท ตั้งแต่ 1 ต.ค.65 -30 มิ.ย.67 ผลักดันนโยบาย “เปิดก่อนจ่าย” ผู้บริโภค เปิดดูสินค้าก่อนจ่าย และเปิดเผยตัวตนร้านค้า จึงถือเป็นสิทธิผู้บริโภคที่ควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ และช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ เพื่อจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากร้านค้าที่ไม่ซื่อสัตย์ และยังช่วยลดปัญหาการร้องเรียนขอเปลี่ยน คืนสินค้า หรือขอชดใช้ความเสียหายเมื่อมีปัญหา ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค รวมทั้งช่วยลดภาระการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทาง ผศ.อุดม งามเมืองสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ให้ข้อมูล ความรู้และความเข้าใจในเรื่องประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ‘ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 เริ่มประกาศใช้วันที่ 3 ตุลาคม 2567 กฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้นักช้อปออนไลน์ โดยการใช้ “มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)” ให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่เรียกเก็บเงินปลายทางจากผู้บริโภค ต้องระบุรายละเอียดในหลักฐานการรับเงิน เช่น ชื่อ-สกุล และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ส่งสินค้า หมายเลขติดตามพัสดุ ข้อมูลพัสดุ จำนวนเงินที่เรียกเก็บปลายทาง รวมถึงให้สิทธิผู้บริโภคปฏิเสธไม่รับสินค้า หรือมีสิทธิได้รับค่าสินค้าคืน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจถือเงินไว้ก่อนเป็นเวลา 5 วัน ก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ส่งสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืนนอกจากนี้ ยังให้สิทธิผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ โดยบันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน หากสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค และจะช่วยแก้ไขปัญหาการถูกหลอกขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย
ร่วมกันในการพัฒนาแนวทางการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ด้านสินค้าบริการออนไลน์ ภาคเหนือ
การสื่อสารให้กับผู้บริโภค,หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการบริษัทขนส่ง ได้รับรู้ และให้เข้าใจต่อมาตราการส่งดี เช่น จัดเวทีสื่อสารออนไลน์,การทำสื่อแผ่นเดียว,การสื่อสารผ่านสื่อมวลชน สื่อหลักและสื่อท้องถิ่น วิทยุชุมชน และเวทีประชุมประจำเดือนกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
การจัดเวทีอบรม แกนนำองค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภค ในการสร้างเข้าใจกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการออนไลน์ เช่น พรบ.ขายตรงและตลาดแบบตรง
สมาชิกสภาผู้บริโภค และหน่วยประจำจังหวัด ติดตามหลังจากประกาศใช้ วันที่ 3 ตุลาคม 2567 ในเรื่องประเด็นปัญหาและเรื่องร้องเรียน
การจัดเวทีนำเสนอ แนวปฎิบัติตามนโยบายการดำเนินการตามประกาศมาตราการส่งดี ของบริษัทไปรษณีย์ไทย
การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ขนาดใหญ่ Shopee / Lazada / TikTok และผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค
/บุญยงค์ สดสอาด