กสร. เดินหน้าสร้างการตระหนักรู้การคุ้มครองสิทธิของแรงงานบนเรือเดินทะเล ลดการกระทบสิทธิคนประจำเรือ และละเมิดข้อกฎหมาย
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เดินหน้าสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในสิทธิ และหน้าที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลให้กับเจ้าของเรือ และคนประจำเรือ ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เกิดการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานบนเรือเดินทะเลระหว่างประเทศและบนเรือเดินทะเลใกล้ฝั่งให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล หวังช่วยลดการกระทบสิทธิคนประจำเรือ และละเมิดข้อกฎหมาย
นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention, 2006 ) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) พร้อมทั้งตราพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองแรงงานที่มีการทำงานบนเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ รวมถึงการทำงานบนเรือเดินทะเลใกล้ฝั่งที่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งคุ้มครองทั้งแรงงานไทยและต่างชาติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยมี 4 กระทรวงหลักมีหน้าที่รับผิดชอบภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหน้าที่หลักในการดูแลเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่กำหนดให้เจ้าของเรือมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมาย ตั้งแต่การทำข้อตกลงการจ้างงาน การกำหนดเวลาทำงานปกติ การทำงานล่วงเวลา ชั่วโมงการพักผ่อนในการทำงาน ตลอดจนกำหนดระยะเวลาในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนประจำเรือ เป็นต้น และดูแลสภาพการทำงานของคนประจำเรือ อาทิ สิทธิการได้รับค่าล่วงเวลา สิทธิการลาขึ้นฝั่ง และสิทธิการลาป่วย เป็นต้น
ด้านนางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดี กสร. ในฐานะกำกับดูแลภารกิจด้านการคุ้มครองแรงงาน กล่าวเสริมว่า การสร้างการตระหนักรู้ให้เจ้าของเรือมีความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ และหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อให้นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ไม่กระทำการฝ่าฝืน หรือละเมิดข้อกฎหมายที่จะเป็นการกระทบสิทธิของ คนประจำเรือ รวมทั้งคนประจำเรือในฐานะผู้ใช้แรงงานนั้นก็ควรจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง มีความสำคัญอย่างยิ่ง กรมจึงได้จัดอบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ให้แก่เจ้าของเรือ คนประจำเรือขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานทางทะเลของประเทศไทย และให้การคุ้มครองการทำงานบนเรือเดินทะเลระหว่างประเทศเป็นไปอย่างมีมาตรฐานสากล สร้างสังคมการทำงานระหว่างเจ้าของเรือและคนประจำเรือให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ลดความขัดแย้งภายใต้การปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกต้องต่อกัน
****************