ศอ.บต. ให้การต้อนรับ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการศึกษา กับ องค์กรอิสลามอินโดนีเซีย Nahdlatul Ulama เพื่อประสานความร่วมมือในอนาคต
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2567 เวลา 19.30 น. ณ ห้องปัญจเพชร อาคาร ศอ.บต. คณะองค์กรอิสลามอินโดนีเซีย Nahdlatul Ulama (LPTNU) เข้าพบผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมี นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานต้อนรับคณะผู้มาเยือน ซึ่งคณะฯประกอบด้วย อธิการบดีของมหาวิทยาลัยในอินโดนีเซีย และหัวหน้าส่วนราชการ ขอเข้าพบผู้บริหาร ศอ.บต. เพื่อหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย-อินโดนีเซีย โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา
นายอัยนูน นาอิม หัวหน้าสมาพันธ์การอุดมศึกษาองค์กรอิสลาม Nahdlatul Ulama กล่าวขอบคุณ ศอ.บต. ที่ให้การต้อนรับคณะ Nahdlatul Ulama อินโดนีเซีย ในครั้งนี้ โดยก่อนเยือน ศอ.บต. ได้มีโอกาสเข้าพบผู้บริหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อหารือความร่วมมือด้านการศึกษา เนื่องจากคณะที่มาเยือนในวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยต่างๆในอินโดนีเซีย Nahdlatul Ulama ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเครือข่าย 282 แห่ง จึงประสงค์เข้าหารือแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา คาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศใรอนาคต
โดยคณะได้มีการสอบถามถึงการจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ หลักสูตรการสอน การฝึกงาน การบริหารจัดการของสถาบันการศึกษาระหว่างรัฐและเอกชน เป็นต้น
โดย รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวตอนหนึ่งว่า ศอ.บต. พร้อมเป็นหน่วยประสานการปฏิบัติงานและความร่วมมือ ให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา เทคโนโลยี หรือการพัฒนาคุณภาพประชาชนด้านอื่นๆ อย่างไรก็ตาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่หลายแห่งทั้งรัฐและเอกชน อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
และวิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกัน ในส่วนการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาและระดับประถมศึกษาของไทยนั้น ใช้หลักสูตรสายสามัญทั้งหมด ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะมีหลักสูตรสามัญควบคู่กับศาสนา อย่างไรก็ตามขอบคุณคณะฯที่เข้าพบคารวะ สนใจการศึกษาในพื้นที่ คาดว่า จะได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคณะฯที่มาเยือน เนื่องจากเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่ของอินโอนีเซีย ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ เราใช้งานวิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน พัฒนาพื้นที่ และแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงหวังว่าในอนาคตจะมีโอกาสทำงานร่วมกับยอดฝีมือที่เป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งของอินโดนีเซียด้วย