กรมการจัดหางาน ปฏิบัติการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” แรงงานผิดกฎหมาย ร่วม 8 หมื่นคน พิพัฒน์เข้ม ดำเนินคดี ไม่มีข้อยกเว้น
นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ได้กระจายกำลังลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบแรงงานข้ามชาติที่กระทำผิดกฎหมาย เป็นเวลา 24 วันแล้ว หลังจากที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการ มอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กำลังพลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้ออกปฏิบัติการโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ ที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ มีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว และมติครม.ในคราวต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง โดยเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวจะปฏิบัติการอย่างเข้มข้น “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” เป็นระยะเวลา 120 วัน
ผลการดำเนินการ ระหว่างวันที่ 5 – 28 มิถุนายน 2567 รวม 24 วัน มีการตรวจสอบตามที่พลเมืองดีแจ้งเบาะแสและการสุ่มตรวจในสถานประกอบการ และบริเวณที่พบแรงงานข้ามชาติอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ล่าสุดได้ลงพื้นที่หลายจุด อาทิ ตลาดย่านห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ร้านขายของชำ ย่านภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร บริษัทนำเที่ยว ย่านบางแค กรุงเทพมหานคร โรงงานเผากะลามะพร้าว จังหวัดราชบุรี ร้านขายอาหารและเครื่องดื่มในจังหวัดอุดรธานี ไซต์งานก่อสร้างในจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น จากการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศ 6,217 แห่ง พบกระทำความผิด 203 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 78,498 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 58,868 คน กัมพูชา 11,913 คน ลาว 5,571 คน เวียดนาม 22 คน และสัญชาติอื่น ๆ 2,424 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 534 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 352 คน ลาว 75 คน กัมพูชา 53 คน เวียดนาม 5 คน และสัญชาติอื่น ๆ 49 คน
“กรมการจัดหางานขอย้ำเตือนว่า คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งหากพบการกระทำความผิดกรมการจัดหางานจะดำเนินคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว