พิษณุโลก นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานพิธีถวายเครื่องราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วันที่ 25 เมษายน 2567 เวลา 08.29 น. ที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชวังจันทน์ นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานพิธีถวายเครื่องราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชน เข้าร่วมพิธีฯ ซึ่งวันที่ 25 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครบรอบ 419ปี กองทัพภาคที่ 3 โดยพลตรีสมบัติ บุญกอแก้ว เป็นผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 3 นำหน่วยขึ้นตรงในพื้นที่ ร่วมรัฐพิธีกับจังหวัดพิษณุโลก ประกอบด้วยการวางพวงมาลาเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดี และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อผืนแผ่นดินและชนชาติไทย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ และกล้าหาญ ทรงกอบกู้อิสรภาพของไทย และทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม พระผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย
ภายหลังที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ในรัชสมัยของพระองค์ ทรงทำการศึกสงคราม และเอาชนะข้าศึกหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุดคือ ใน พ.ศ. 2135 พระมหาอุปราชาของพม่าได้ยกทัพมาตีไทย พระองค์ทรงชนช้างกระทำยุทธหัตถี และทรงฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ตั้งแต่นั้นมาพม่าก็เกรงกลัว เลิกยกทัพมารุกรานไทยอีก พระบาทสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ (พระนเรศวรมหาราช) มีพระนามเดิมว่าพระองค์ดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์พระองค์เสด็จพระบรมราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๘ ที่เมืองพิษณุโลกทรงมีพระเชษฐภคิณีคือพระสุพรรณกัลยา (องค์ทอง )ทรงมีพระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถ(องค์ขาว)และทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระนามของพระองค์ปรากฏในลายลักษณ์อักษรหลายฉบับเช่น พระนเรศวรราชาธิราช พระนเรสส องค์ดำ
จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพระนาม นเรศวรได้มาจากที่ใดสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เพี้ยนมาจาก สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช เป็น สมเด็จพระนเรศวร ราชาธิราชเสด็จขึ้นครองราชเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓ รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ รวมพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษาราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทยพระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรปาซิฟิคทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ถึงแหลมมลายูทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด
และยังรวมไปถึงรัฐไทยใหญ่บางรัฐพระองค์ได้ทำสงครามเข้าไปในประเทศที่เป็นข้าศึกของไทย ในทุกทิศทาง จนประเทศไทยอยู่เป็นปกติสุขปราศจากศึกสงคราม เป็นระยะเวลายาวนาน พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งสิ้นทั้งปวงของพระองค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและคนไทยทั้งมวล ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ จะอยู่ในสนามรบและชนบทโดยตลอดมิได้ว่างเว้น แม้แต่เมื่อเสด็จสวรรคต ก็เสด็จสวรรคตในระหว่างเดินทัพไปปราบศัตรูของชาติไทยนับว่าพระองค์ได้ทรงสละพระองค์ เพื่อชาติบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง สมควรที่ชาวไทยรุ่นหลังต่อมา ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และจดจำวีรกรรมของพระองค์ เทอดทูลไว้เหนือเกล้า ฯ ไปตราบชั่วกาลนาน