เลขาธิการ ศอ.บต ร่วมงานแถลงข่าว เปิดตัวแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของเทศบาลนครยะลา เผย เป็นประวัติการหน้าหนึ่งของ จชต ในการยกระดับศักยภาพท้องถิ่น ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2566) ที่ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park อาคารใหม่) เทศบาลนครยะลา จัดงานแถลงข่าวการดำเนินกิจกรรมของเทศบาลนครยะลา และเปิดเวทีร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านเมืองอัจฉริยะของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีพันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีเปิดฯ พร้อมนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ส่วนราชการ ตลอดจนสื่อมวลชนในพื้นที่ เข้าร่วม
พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ครั้งนี้จะถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เราจะได้ร่วมทางกันในการก้าวไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนที่ไม่ใช่เพียงแต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จะกระจายลงไปสู่พื้นที่ต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มที่ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่ประเทศของเราได้มีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีตเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ต่อไป
ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมายอาทิ การบรรยายความคืบหน้าต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของเทศบาลนครยะลา ภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ” กิจกรรมเสวนา ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนท้องถิ่นไทยสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่” และ “การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะสำหรับท้องถิ่นไทยด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล” รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ซักถาม หรือเสนอแนะข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้เทศบาลนครยะลายังได้ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ภายใต้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ดำเนินการพัฒนาและเผยแพร่แพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ วางแผน ติดตามผล แก้ปัญหา ตลอดจนบริหารจัดการเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยแพลตฟอร์มประกอบไปด้วย แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (CDDP) รวบรวมจัดเก็บ และแสดงผลข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อวางแผน การพัฒนาให้สอดรับกับการเจริญเติบโตของชุมชม สังคม และประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ ช่วยวางแผนรับมือภัยพิบัติได้ทันท่วงที ให้ความช่วยเหลือตามลำดับความสำคัญ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ระบบรับแจ้งเหตุและจัดการปัญหาออนไลน์ ยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ช่วยสอดส่องดูแลเมืองเพื่อให้เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างแบบครบวงจร ติดตามและรอผลอนุมัติผ่านระบบออนไลน์ และระบบภาษีอัจฉริยะ เพื่อยกระดับการบริการประชาชนในการจัดเก็บภาษีให้รวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ
สำหรับการจัดงานครั้งนี้เทศบาลนครยะลา ได้บูรณาการร่วมกับศอ.บต. และส่วนราชการภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน พัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้มีศักยภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม สู่กลไกการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและอำนวยความสุขให้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริงจากการนำต้นทุนเดิมที่มีอยู่มาพัฒนาต่อยอด พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จนต่อยอดเป็นโครงการต่าง ๆ มากมาย ทำให้ยะลาก้าวสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างเต็มตัว และได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองนำร่องในการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) จนได้รับรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลสามปีซ้อน (2564-2566) ซึ่งนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน