ศรีสะเกษ พ่อค้าแม่ค้าราษีไศลนับร้อยโวยโดนไล่ที่ไม่ให้ขายสินค้าเกษตรหน้าที่ว่าการอำเภอ แกนนำเผยขายสินค้าในช่วงเวลากลางคืนมานานกว่า 30 ปี ไม่มีปัญหา แต่ต่อมาอำเภอกำหนดให้มีการปิดประตูและห้ามขายของภายในบริเวณที่ว่าการอำเภอในเวลากลางคืน ตั้งแต่เวลา 19.00 – 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาก
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าที่ว่าการ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ได้มีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่เคยทำมาค้าขายอยู่บริเวณหน้าที่ว่าการ อ.ราษีไศล จำนวนประมาณ 60 คน นำโดยนายโชคชัย ปรัชญาประเสริฐ อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 73 หมู่ 5 ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ได้พากันมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องขอให้ทาง อ.ราษีไศล อนุญาตให้พวกตนนำเอาสินค้าทางการเกษตรมาขายที่บริเวณหน้าที่ว่าการ อ.ราษีไศล ได้เช่นเดิม หลังจากที่ อ.ราษีไศล ได้ทำประตูรั้วเหล็กปิดทางเข้าบริเวณที่ว่าการ อ.ราษีไศล โดยจะปิดประตูเวลา 19.00 น. และเปิดประตูเวลา 06.00 น. ทุกวัน
ทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าไม่สามารถนำเอาสินค้าทางการเกษตรมาจำหน่ายในเวลากลางคืนได้ โดยทาง อ.ราษีไศลได้จัดสถานที่ใหม่ให้พ่อค้าแม่ค้านำเอาสินค้าไปขายห่างจากที่เดิมประมาณ 500 เมตร แต่ว่าไม่สามารถขายสินค้าได้ เนื่องจากไม่มีลูกค้าติดตามไปหาซื้อสินค้าแต่อย่างใด ทำให้กลุ่มแม่ค้าได้รับความเดือดร้อนมาก ต่อมา นายโชคชัย ได้นำกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าขึ้นไปพบกับ นายอนุชา เรืองอมรวิวัฒน์ นายอำเภอราษีไศลและ นายกัณพงศ์ แซ่จึง นายกเทศบาล ต.เมืองคง และคณะส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้พิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาช่วยเหลือโดยด่วนด้วย
นายโชคชัย ปรัชญาประเสริฐ อายุ 49 ปี แกนนำกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กล่าวว่า ตามมติที่ประชุม อ.ราษีไศล ได้กำหนดว่า ทางอำเภอได้มีการจัดระเบียบการขายของขายสินค้าของตลาดอำเภอราษีไศล ที่พ่อค้าแม่ค้าได้ขายสินค้าในบริเวณตลาดหน้าที่ว่าการ อ.ราษีไศล โดยกำหนดให้มีการปิดประตูและห้ามขายของภายในบริเวณที่ว่าการอำเภอในเวลากลางคืน ตั้งแต่เวลา 19.00 น. ถึง 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น นั้น ทำให้พวกตนกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ผู้มาจับจ่ายซื้อขายสินค้าตลาดในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งทำการค้าขายมานานมากกว่า 30 ปีได้รับผลกระทบ มีความเดือดร้อนเพราะไม่มีที่ขายของ ไม่มีที่จอดรถ ซึ่งมีทั้งรถตลาด รถประชาชน รถพ่อค้าแม่ค้าซึ่งมาจับจ่ายซื้อของในช่วงดึก ทั้งรถยนต์ รถพุ่มพวง รถสามเข่ง ซึ่งมีประมาณมากกว่า 100 คันที่มาซื้อของเพื่อนำไปขายให้ผู้คนในหมู่บ้าน ไม่สามารถที่จะทำการค้าขายได้
พวกตนจึงขอความเป็นธรรมและขอความเสมอภาคในการบริหารจัดการ ซึ่งการที่เทศบาลตำบลเมืองคง อ้างว่ามติที่ประชุมอำเภอราษีไศลเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2566 มีผู้ร้องเรียนว่า มาติดต่อราชการแล้วไม่มีที่จอดรถ จึงสั่งห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปจำหน่ายสินค้าในบริเวณที่ว่าการ อ.ราษีไศล และสั่งให้ปิดประตูอำเภอในเวลา 19.00 น. ถึง 06.00 น. ซึ่งพวกตนเห็นว่าในเวลาดังกล่าวไม่ใช่เวลาราชการที่ผู้ที่จะมาติดต่อราชการได้รับผลกระทบไม่มีที่จอดรถ เพราะตลาดกลางคืนเริ่มขายของในเวลา 24.00 น. ถึง 07.00 น. แค่นั้น และส่วนใหญ่จะตั้งร้านตั้งแผงขายในถนนด้านทิศตะวันออก จะมีบางส่วนที่ตั้งขายในลานจอดรถและฟุตบาทด้านหน้าประตูรั้ว การไม่มีที่จอดรถไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับตลาดกลางคืนแต่อย่างใด น่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าในช่วงเวลากลางวันที่ขายสินค้าทั้งบริเวณถนนและล้ำเข้าไปในลาดจอดรถเป็นบริเวณกว้าง
นายโชคชัย กล่าวต่อไปว่า ซึ่งจากการที่การร้องเรียนว่าตลาดกลางคืนได้ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลไว้ภายในที่ว่าการอำเภอ ในการทิ้งขยะนี้ ตั้งแต่ช่วงหลังโควิดเป็นต้นมา มีพนักงานจากเทศบาลตำบลเมืองคงเข้ามาเก็บเงินค่าเก็บขยะจากรถพุ่มพวง รถสามเข่ง และจากพ่อค้าแม่ค้าแผงละ 10 บาท ทุกคืนเพื่อเป็นค่าจัดการขยะ (มีใบรับเงินค่าขยะ)เดิมเทศบาลได้จัดที่ทิ้งขยะไว้บริเวณที่วัดปริมาณน้ำฝน ต่อมาได้จัดเปลี่ยนที่ทิ้งขยะ มาเป็นบริเวณข้างหอประชุมอำเภอเก่า ซึ่งขยะนี้ส่วนใหญ่มาจากพ่อค้าแม่ค้าตลาดสดเทศบาล จุดสินค้าตลาดกลางคืนส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสำเร็จที่ทำเสร็จจากบ้านมาแล้ว และพอมาถึงตลาดสามารถวางขายได้เลยสินค้า ตลาดกลางคืนจะมีพ่อค้าแม่ค้าซึ่งปลูกผักเองซึ่งเป็นคนในพื้นที่ ได้นำมาวางจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้
ให้แก่ครอบครัวและชุมชน ส่วนรถพุ่มพวง รถสามเข่ง ที่มาซื้อขายสินค้าและจอดรถบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ พอถึงช่วงเวลาประมาณ 05.00 น. ก็ได้พากันขับรถออกจากลานจอดรถเพื่อไปขายสินค้าให้กับประชาชนตามหมู่บ้าน และเวลาประมาณ 07.00 น. พ่อค้าแม่ค้าขายสินค้าเกษตรกลางคืนได้ทำการเก็บร้านกลับกันหมดทุกร้านแล้ว ซึ่งตลาดแห่งใหม่ที่ทางเทศบาล ต.เมืองคง จัดให้พ่อค้าแม่ค้าไปขายสินค้านั้น เหมือนกับให้พวกตนไปตาย เพราะว่าไม่สามารถขายสินค้าได้ อีกทั้งสถานที่ดังกล่าวไม่มีห้องสุขา ผู้ซื้อมีน้อยมาก ไม่มีที่จอดรถ ต้องจอดรถตามถนน 2 ข้างทางทำให้การจราจรติดขัดเป็นจำนวนมาก ดังนั้น พวกตนจึงได้มาร้องทุกข์กับนายอำเภอราษีไศลและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า มาขายสินค้าเวลากลางคืนที่บริเวณหน้าที่ว่าการ อ.ราษีไศลได้เช่นเดิมด้วย
ทางด้าน นายอนุชา เรืองอมรวิวัฒน์ นายอำเภอราศีไศล กล่าวภายหลังจากการหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้วว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 11 พ.ย.2566 อ.ราษีไศล จะจัดงานประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน โดยจะมีการจำหน่ายสินค้านานาชนิดทั้งเครื่องหนัง อาหาร เครื่องสำอาง แว่นตา เฟอร์นิเจอร์ ต้นไม้ และสวนสนุกชุดใหญ่ ดังนั้น จึงจะให้ทำการเปิดประตูทางเข้าที่ว่าการ อ.ราษีไศล ตั้งแต่วันที่ 1 – 15 พ.ย.2566 และในวันที่ 2 พ.ย. 2566 จะมีการประชุมคณะกรรมการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการขายสินค้าของตลาด อ.ราษีไศล เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพื่อจะได้ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป//////
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ