ชาวบ้าน ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ต่อยอดโครงการของ ศอ.บต. รวมกลุ่มเลี้ยงไก่ไข่ “ไก่อารมณ์ดี” สร้างรายได้กระฉูด พร้อมขยายผลช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส สร้างอาชีพ ลดรายจ่าย กระจายรายได้ สู่ชุมชน
พื้นที่ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตำบลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านคณะกรรมการสภาสันติสุขตำบลที่มี 5 ภาคส่วน ประกอบด้วย ส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องที่ ผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม สำรวจข้อมูลจากการมีส่วนร่วมที่ประชาชนได้สะท้อนความปัญหาความเดือดร้อน และความต้องการ โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้ามาหนุนเสริมการพัฒนาที่สอดคล้องตามบริบทของพื้นที่และความต้องการของพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับนางสาวปวณี เขียวจันทร์ หนึ่งในประชาชนที่เข้าร่วมโครงการและดำเนินการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพตลอดจนเพิ่มรายได้ บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นางสาวปวณี เขียวจันทร์ ประชาชนที่เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ หมู่ที่ 3 ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ในปี 2559 ศอ.บต. ได้มีการสนับสนุนงบให้ตำบลละ 5 ล้านบาท และกระจายมายังหมู่บ้าน โดยในพื้นที่ดังกล่าวได้จัดทำโครงการเลี้ยงไก่ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงไก่ไข่ครัวเรือนละ 5 ตัว ซึ่งตนเองได้รับการสนับสนุนและดำเนินการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ เพื่อนำมาไว้บริโภคในครัวเรือน แต่การกินไข่ทุกวันมันเบื่อจึงคิดที่จะนำมาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ จนเลี้ยงเพิ่มเป็น 30 ตัว เท่ากับไข่ 1 แผง ได้แผงละ 110 บาท เริ่มเก็บเล็กผสมน้อยซื้อแม่ไก่เพิ่มจนปัจจุบันมีแม่ไก่จำนวน 700 ตัว จึงได้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายควบคุมต้นทุนกำไรขาดทุน ต่อมาปี 2560 มูลนิธิปิดทองหลังพระเข้ามาสอนการเลี้ยงไก่ไข่แบบลดต้นทุนและใช้วัตถุดิบที่มีอยู่เช่น หยวก รำ ปลายข้าว ใบตำลึง ใบมัน มาใช้เป็นอาหารหลักในการเลี้ยงยิ่งทำให้ต้นทุนลดลง
อีกทั้งตนยังใช้วิธีการเลี้ยงแบบปล่อย ตามธรรมชาติ มีบริเวณให้เดินคุ้ยเขี่ยดิน ซึ่งจะทำให้ไก่มีอารมณ์ดีและนั่นเป็นที่มาของชื่อว่า “ไก่อารมณ์ดี” ทำให้ผลผลิตที่ได้แตกต่างจากท้องตลาด ไข่แดงมีความมันวาว ไม่คาว รสชาติจะไม่เหมือนกับไข่ทั่วไปจะมีคุณภาพที่ดีกว่า ซึ่งได้รับการการันตีจากลูกค้าที่ซื้อไปรับประทานทำให้เรายิ่งมีกำลังใจและภูมิใจมากขึ้น สามารถสร้างรายได้สูงขึ้นเฉลี่ย/เดือนกว่า 12,000 บาท นอกจากนี้ขี้ไก่ยังสามารถนำไปขายได้/เดือนละ 4,000 บาท
ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางของรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจนรวมกลุ่มของสมาชิกทั้งหมด 13 คน ต่อมาในปีนี้ 2566 ศอ.บต.ได้เข้ามาสนับสนุนตำบลละ 1 ล้านบาทซึ่งหมู่ที่ 3 ตำบลป่าไร่ เป็นอีกพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนและต่อยอดจากกลุ่มเดิมเพิ่มกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส และคนจนตามฐานข้อมูล TP MAP มาเพิ่มรายได้โดยมีสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลให้คำแนะนำทุกขั้นตอน พร้อมขยายโอกาสให้หมู่บ้านใกล้เคียงได้มีรายได้เพิ่มจากการเลี้ยงไก่จะสามารถก่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสร้างความยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต
ด้านมารดาของนางสาวแวซง สีเดะ ซึ่งเป็นผู้พิการทางสมอง เล่าความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการว่า ดีใจมากที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนโครงการดีๆ แบบนี้ให้ความรู้ในการริเริ่มดำเนินการไม่ทิ้งขวาง ตามลำพัง ปัจจุบันครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกของตนซึ่งเป็นผู้พิการและเป็นผู้ด้อยโอกาสได้ใช้เวลาว่างตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ ทำให้มีอาชีพมีรายได้เล็กๆ น้อย ๆ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สามารถเลี้ยงดูตนเอง และคนในบ้านได้เมื่อยามที่ลำบาก
ขณะที่นายอายุ สาแลมะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่จะช่วยคนด้อยโอกาสในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับชีวิตสามารถยืนได้ด้วยตนเองได้ ซึ่งที่ผ่านมาตนได้มีกระจายงบให้กับชาวบ้านเพื่อนำไปต่อยอดและเน้นย้ำให้สมาชิกจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายสำรวจผลผลิต กำไรที่ได้ และแบ่งปันให้กับสมาชิกได้ครบทุกคนอย่างเท่าเทียม
อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตำบลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นโอกาสให้ประชาชนในระดับรากหญ้าได้มีช่องทางสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ที่จากเดิมส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือกรีดยางพารา แต่ปัจจุบันสามารถมีอาชีพเสริมจากการเลี้ยงไก่ ปลูกผัก สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น นับเป็นความโชคดีของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี