พิจารณาการแบ่งปันผลประโยชน์ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจากสัมปทานการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ MTJDA

พิจารณาการแบ่งปันผลประโยชน์ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจากสัมปทานการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ MTJDA

 

วันนี้ (5 ก.ย.66) นายอับดุลอายี สาแม็ง ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาชาติ และ สส.จังหวัดยะลา นาย สมมุติ เบญจลักษณ์ สส.จังหวัดปัตตานี ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู สส.จังหวัดปัตตานี นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สส.จังหวัดปัตตานี นายสุไลมามาน บือแนปีแน สส.จังหวัดยะลา พล.ต.ท.พัฒนวุฒิ อังคะนาวิน ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาชาติ ร่วมหารือ นายกุลิศ สมบัติศิริ ในฐานะปลัดกระทรวงพลังงาน และกรรมการองค์กรร่วมพัฒนาพื้นที่ไทย-มาเลเซีย (MTJDA) เพื่อพิจารณาการแบ่งปันผลประโยชน์ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจากสัมปทานการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ MTJDA ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สืบเนื่องจากพรรคประชาชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายก อบต. บ้านน้ำบ่อ นายสูดิน โตะพา และนายบาฮาอูดิน ตาเล๊ะ รองนายกฯ

เกาะโลซิน ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ อบต. บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ห่างจากหาดวาสุกรี ในเขต อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ประมาณ 72 กิโลเมตร ไม่มีต้นไม้ ไม่มีแม้แต่หาดทราย มีเพียงยอดภูเขาโผล่พ้นน้ำขึ้นมาประมาณ 10 เมตร ฐานกองหินใต้ผืนน้ำกว้างประมาณ 50 ตารางเมตร และมีเพียงประภาคาร ตั้งโดดเด่นเป็นจุดสังเกตแก่นักเดินเรือเท่านั้น บริเวณรอบเกาะ เป็นแหล่งปะการังที่อุดมสมบูรณ์ กินพื้นที่ยาว 1 กิโลเมตร มีพืชใต้น้ำ และฝูงปลานานาชนิด โดยเฉพาะฉลามวาฬ
แต่เดิมที่นี่เคยเป็นดินแดนพิพาทระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยมาเลเซียได้ทำการอ้างสิทธิ เหนือเกาะกระ ใน จ.นครศรีธรรมราช ด้วยการอ้างการแบ่งเขตไหล่ทวีป อันเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่สัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเล ที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ แต่เวลาต่อมา คณะเจรจาไปพบเกาะหินกลางทะเล นั่นคือ “เกาะโลซิน” จึงได้ใช้อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1958 ให้โลซินมีสถานะเป็นเกาะ ไทยจึงสามารถประกาศสิทธิเขตเศรษฐกิจจำเพาะจากแนวน้ำลดบริเวณชายฝั่งออกไปได้ 200 ไมล์ทะเล ซึ่งครอบคลุมแหล่งก๊าซด้วย
.
ในปี 2522 ประเทศไทยและมาเลเซีย สามารถบรรลุข้อตกลงกำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) ครอบคลุมประมาณ 7,250 ตร.กม.โดยตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการร่วมกันแล้วแบ่งผลประโยชน์คนละครึ่ง เป็นระยะเวลา 50 ปี ซึ่ง MOU จะสิ้นสุดในปี 2572
.
ทาง อบต. บ้านน้ำบ่อ จึงอยากให้มีการทบทวนและบริหารจัดการผลประโยชน์ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากขึ้น และศึกษาการแบ่งผลประโยชน์ จากแหล่งในทะเล เช่น ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมให้แก่ชุมชนโดยตรง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากในอดีต รัฐบาลไทยใช้เกาะโลซินเป็นข้อต่อสู้ในการกำหนดอาณาเขตในทะเล แต่ชุมชนไม่เคยได้รับประโยชน์ใด ๆ

ในการนี้อาจต้องมีการพิจารณาประกาศของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่และค่าภาคหลวงปิโตรเลียมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2544 ใหม่

โดยพิจารณาถึง รัฐธรรมนูญไทย มาตรา 43 ที่กำหนดว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ
(2) จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญไทย (8) ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม

มาตรา 51 แห่งรัฐธรรมนูญไทย การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ตามหมวดนี้ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับผลประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

 

 

Related posts