ศรีสะเกษ หมอจาตุรงค์ชวนชิมอินทผลัมภูเขาไฟที่สวนโฟร์เจพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของกันทรลักษ์ ให้ผลผลิตนานกว่า 100 ปี ขณะที่ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์เผยเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่งของ จ.ศรีสะเกษ
เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สวนอินทผลัมโฟร์เจ ต.ท่าคล้อ อ.เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ ได้นำคณะกรรมการของสมาคมไปเยี่ยมชมสวนอินทผลัม ซึ่งภายในบริเวณสวนได้มีการตกแต่งอย่างสวยงามมาก มีร้านกาแฟไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมสวนได้ชิมรสชาติกาแฟที่อร่อยเข้มข้น มีการปลูกต้นอินทผลัมภูเขาไฟจำนวนมากและกำลังให้ผลผลิต โดยมีการนำเอากระดาษมาห่อผลอินทผลัมเอาไว้ มีศูนย์การเรียนรู้ปลูกอินทผลัมครบวงจร เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้มาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการปลูกอินทผลัม
โดยมี นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 4 และ ดร.อุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ มาให้การต้อนรับและบรรยายสรุปให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมสวนได้รับทราบถึงความเป็นมาของสวนแห่งนี้ จากนั้น ได้นำคณะของ ดร.กัลยาณี เข้าไปเยี่ยมชมภายในสวน มีจุดให้ถ่ายรูปกับต้นอินทผลัมที่กำลังให้ผลผลิตเป็นลูกอินทผลัมสีแดง ซึ่งกำลังสุกและสามารถเก็บเอาผลอินทผลัมมาชิมรสชาติความอร่อยใต้ต้นอินทผลัม ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติของการชิมอินทผลัมภูเขาไฟได้เป็นอย่างดี ต่อมา นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 4 ได้นำคณะไปเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ปลูกอินทผลัมครบวงจร ซึ่งภายในศูนย์มีการจัดทำปุ๋ยอินทรีย์ การขยายพันธุ์ต้นอินทผลัมจำนวนมาก
นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 4 กล่าวว่า ในตอนแรกตนได้ไปดูงานในช่วงที่เป็น ส.ส.ช่วงปี 2562 ปลายปีต่อ 2563 ไปดูที่สวนอินทผลัมทุ่งทองคำที่ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งปลูกอินทผลัมแล้วได้ผล ตนก็เลยเห็นว่าปกติแล้วชาวบ้านปลูกอินทผลัมแล้วลูกจะฝาด เพราะว่าไม่ได้ผสมเกสร ดังนั้นทางคณะของสวนทุ่งทองคำ ก็เลยแนะนำว่า ถ้าเราปลูกเราจะทำเป็นวิทยาทานทำเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับพี่น้องโดยนำต้นพันธุ์ที่เป็นหน่อพันธุ์ ที่อยู่กับแม่มาแล้ว 3 ปีพออยู่กับแม่ 3 ปีเรานำเอามาลงดิน 1 ปีมันก็เริ่มแทงจั่น และออกลูก พอปีที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จะได้ผลผลิตมากขึ้น การปลูกนั้นพี่น้องเกษตรกรบางท่านอาจจะไม่เข้าใจคิดว่า เกสรตัวผู้จะมาผสมกับเกสรตัวเมียด้วยตนเองมันไม่ใช่ เกสรตัวผู้จะบานก่อน 2 อาทิตย์ ถ้าเราไม่เก็บเกสรตัวผู้ไว้ในตู้เย็น แล้วเวลาเกสรตัวเมียบาน ไม่ได้นำออกมาเคาะใส่กัน หรือว่านำเอามาฉีดใส่กัน ต้นอินทผลัมก็จะไม่มีลูก ลูกก็จะฝาดและลูกจะเล็ก จึงไม่เกิดประโยชน์จะทำให้คนจำว่าอินทผลัมมีรสฝาดก็เลยพากันเลิกกิน
ตนก็เลยจัดให้มีการปลูกอินทผลัมที่เป็นหน่อพันธุ์แล้วก็เป็นวิทยาทานทำเป็นศูนย์เรียนรู้ พี่น้องประชาชนหลายคนได้มาดูแล้วได้มาขอแบ่งเอาเกสรไป วิธีการก็คือเราเก็บเอาเกสรกับแป้ง 2 ส่วน เกสร 1 ส่วน ให้แป้งพาเอาเกสรตัวผู้ไปผสมกับเกสรตัวเมีย เมื่อเราฉีดพ่นแล้วเราก็จะมีถุงหุ้มเอาไว้ หลังจากนั้น 1 เดือนก็เริ่มที่จะติดลูกแล้วก็จะเปลี่ยนถุงที่ใหญ่ขึ้น ใช้เวลาผสมทั้งหมดระยะเวลา 5 เดือนจะมากกว่าทุเรียน ทุเรียนใช้เวลา 4 เดือน ศัตรูของอินทผลัมคือด้วงมะพร้าวกับแมลงวันทอง เราใช้ปุ๋ยพิเศษคือ เอ็นพีเคในอัตราส่วน 2,1,3 เราใช้ขี้ไก่อัดเม็ดและใช้แคลเซี่ยมโบรอนให้ต้นขั้วแข็งแรงเพราะดูดน้ำจะไม่แตก ซึ่งอินทผลัมอยู่กับเราถึง 100 ปี เราอยู่กับเขาไม่ถึง 100 ปี เพราะฉะนั้นปลูก 1 ต้น เท่ากับเป็นสมบัติให้กับพี่น้องประชาชนลูกหลาน เพราะฉะนั้นตนจึงโปรโมทให้ประชาชนที่สนใจมาทำการปลูกต้นอินทผลัม เวลาเราปลูกเราจะต้องมีอาหารบำรุงต้น โดยจะต้องขุดหลุมลึกลงไป 1 เมตรกว้าง 1 เมตร และทำการผสมปุ๋ยขี้ไก่อัดลงไปและเบ้าของต้นอินทผลัมไม่ให้แตกแล้ว จะกรีดนำเอาเลื่อยตัดเอาลูกหมูตัดนำลงไปปลูกบนดิน แล้วก็รดน้ำผสมสารอาหารลงไปในน้ำ เพื่อให้ดูแลป้องกันไม่ให้มีเชื้อรา
นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 4 กล่าวต่อไปว่า ตนเริ่มปลูกอินทผลัมตั้งแต่ปลายปี 2562 ต่อ 2563 ปลูกครั้งละ 50 ถึง 100 ต้นทยอยปลูกไปเรื่อย ๆ เพราะว่าพันธุ์ที่ได้มามันมีน้อยมาก เป็นพันธุ์ที่คัดพิเศษมาอีกทีหนึ่งและเราก็ทยอยปลูกไปเรื่อยจนเต็มพื้นที่ โดยศูนย์แห่งนี้เป็นของลูกสาวคือ น้องเจนกับน้องจูน ซึ่งเข้ามาดูแลทั้งหมดทั้งจัดสวนและทำเป็นร้านกาแฟเพื่อให้บริการประชาชนที่ชอบอินทผลัมได้มาดื่มกาแฟ ชมและชิมอินทผลัม ซึ่งสวนแห่งนี้มีพื้นที่ 23 ไร่เศษก็ทยอยปลูกไปเรื่อยๆ พันธุ์ที่ปลูกมีพันธุ์ สีแดงคือโคเนซี่ และพันธุ์สีเหลืองคือบาฮี สีแดงจะหวานละมุนลิ้นมาก ลูกจะโตมีวิตามินแร่ธาตุต้านอนุมูนอิสระโดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งในช่องท้องและมีวิตามินซี บี1 บี 2 บี 6 บี 12 วิตามินเค ซึ่งจะช่วยในการต่อต้านมะเร็งทำให้ร่างกายแข็งแรงบำรุงตับผู้ที่เป็นเบาหวานก็ทานได้ หลังจากที่ตนเริ่มปลูกมาปีแรกจะได้ผลผลิต 10 กิโลกรัมต่อต้น ปีที่ 2 ก็จะได้ 40 กก. 80 กก 100 กก และ120 กก. ไปเรื่อยๆ ต้นใหญ่ขึ้น จั่นก็จะใหญ่ขึ้น
ส่วนราคาขายนั้นสีแดงจะขายเพียงกิโลกรัมละ 400 บาทจากปกติ 600 บาท ส่วนสีเหลืองจะขายเพียงกิโลกรัมละ 300 บาทจากเดิม 400 บาท เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่า อินทผลัมจะเป็นอาหารต่อมวลมนุษยชาติเป็นประโยชน์สามารถให้พี่น้องประชาชน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้ได้ ตอนเปิดศูนย์มีพี่น้องประชาชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาเอาหน่ออินทผลัมรวมทั้งเอาเกสรไปผสมได้ ตนจะให้บริการดูแลพี่น้องในเขตอำเภอกันทรลักษ์และอำเภอเบญจลักษ์ รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง ส่วนตลาดจำหน่ายนั้นดีมาก ตลาดไทโทรมาขอซื้อตลอด แต่ว่าผลผลิตมีไม่พอจำหน่าย ซึ่งสวนแม่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดก็ไม่พอขาย ต้องทำการขยายพันธุ์ปลูกไปอีกเรื่อย ๆ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจติดต่อขอเยี่ยมชมได้ที่ สวนอินทผลัมโฟร์เจ เปิด Google Maps พิมพ์คำว่า สวนอินทผลัมโฟร์เจ คือหมอจา หมอเจี๊ยบ จูน เจน โทร. 095-7087647 หมอจา หมอเจี๊ยบ เจน จูน 4 จ.
ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ กล่าวว่า ดีใจที่ จ.ศรีสะเกษ มีผู้มาลงทุน ปกติเราก็จะมีแต่ทุเรียนแต่ตอนนี้ก็มีสวนอินทผลัม ซึ่งทานแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกาย การที่มีคุณหมอมาลงทุนที่นี่ก็ถือว่าทุกคนได้มาที่นี่ได้เรียนรู้วิธีการของการปลูกอินทผลัมรวมทั้งการจัดตกแต่งสถานที่นี้ก็สวยงามกว้างขวาง เหมาะที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งได้เป็นอย่างดี นอกจากจะเป็นที่เรียนรู้แล้วก็ได้มาศึกษาว่า ถ้าใครต้องการปลูกอินทผลัมคุณหมอก็จะมีวิธีแนะนำให้ทุกคนไปปลูกที่สวนของตนเองได้ โดยตนอินทผลัม 1 ต้นสามารถอยู่ได้ถึง 100 ปี ซึ่งเราก็เพิ่งจะมาทราบจากตรงนี้ ซึ่งพอปลูกต้นอินทผลัมแล้วก็จะสามารถอยู่ให้ผลผลิตไปถึงลูกรุ่นหลาน ก็เป็นประโยชน์มาก ตนขอฝากเชิญชวนถึงนักท่องเที่ยวทั่วประเทศว่า สวนอินทผลัมโฟร์เจ จัดสถานที่ได้อย่างดีมาก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าหาง่ายมาก สามารถที่จะเช็คอินเข้ามา สามารถเดินชมบริเวณสวนที่จะมีอินทผลัมแบบสีเหลืองและสีแดงรวมทั้งคุณหมอเองมายืนอธิบายให้เราได้รับทราบเป็นความรู้ได้เข้าใจว่าวิธีการปลูกทำยังไงจึงจะได้ คุณหมอจาตุรงค์จะสอนหมดเลย ตั้งแต่ช่วงออกหน่อยังไงเป็นต้นไปจนกระทั่งสามารถเก็บผลผลิตได้ ถึงแม้ว่าเราจะตายไปแล้ว แต่ต้นอินทผลัมก็ยังอยู่ให้เป็นสมบัติของลูกหลานได้เพราะว่าต้นอินทผลัมสามารถอยู่ได้ถึง 100 ปี/////
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ