‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้อนรับผู้แทน UNDP เข้าเยี่ยมคารวะ
วันนี้ (31 ส.ค. 66) เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร , นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร , นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร , นายธงชาติ รัตนวิชา ผู้ช่วยเลขานุการประธานรัฐสภา , นางฟาริดา สุไลมาน คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย น.ส.สตีจิตร ไตรพิบูลย์สุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.กฤษณี มาศรีจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ ร่วมให้การรับรอง นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ
เพื่อแนะนำตัวและหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกับสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสองฝ่ายกล่าวชื่นชมและยินดีกับความร่วมมือระหว่างกันที่ใกล้ชิดมากขึ้น ผ่านการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังจากที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานของประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น รวมทั้งแสดงความยินดีกับประธานสภาผู้แทนราษฎรในโอกาสที่ได้รับตำแหน่ง โดยประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ที่มีประสบการณ์เป็นอย่างสูงในการทำงานที่ทุกฝ่ายต่างให้ความเชื่อมั่นในการพัฒนาการเมืองของประเทศให้เข้มแข็ง
ทั้งนี้ ผู้แทน UNDP ดำเนินการด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับรัฐสภาไทยมาแล้วกว่า 3 ปี และมีหุ้นส่วนการดำเนินงานในระดับท้องถิ่นอยู่ทั่วประเทศ จึงเห็นความสำคัญต่อบทบาทของรัฐสภาในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) เนื่องจากสถาบันนิติบัญญัติทำหน้าที่เสมือนบ้านของประชาชนที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม UNDP จึงประสงค์ที่จะร่วมงานในระดับสมาชิกรัฐสภาผ่านคณะกรรมาธิการสามัญและพรรคการเมืองด้วย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความท้าทายต่างๆ ที่สำคัญร่วมกัน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการสร้างความเชื่อมั่นของผู้นำประเทศให้กับประชาชนในการหารือดังกล่าว
ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความสำคัญของหนังสือ “บทบาทของรัฐสภาในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติ” และ “คู่มือกลไกทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับรัฐสภาไทย” ซึ่งเป็นองค์ความรู้สำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทรัฐสภา โดยเห็นควรให้สมาชิกรัฐสภาได้มีโอกาสอ่าน รวมทั้งเห็นด้วยในเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งบทบาทของสตรีและยุวสมาชิกในการเมืองให้เพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้รัฐสภาไทยมีการรณรงค์ผ่านการก่อตั้งเครือข่ายยุวสมาชิกรัฐสภา (Young MPs Caucus) ซึ่งรัฐสภาไทยจะส่งผู้แทนไปร่วมประชุมที่เวียดนามในเดือนตุลาคมนี้ด้วย และในการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 44 ที่อินโดนีเซียเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
https://www.facebook.com/100094513767663/posts/146892395137885/?mibextid=cr9u03