ศรีสะเกษ ประธานชมรมครูประถมเผยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…ที่กำลังรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรทำให้การศึกษาไทยเป็นพิษ เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….(ฉบับผู้ประกอบวิชาชีพครู) เพื่อนำเสนอส่วนราชการที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการต่อไป

ศรีสะเกษ ประธานชมรมครูประถมเผยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…ที่กำลังรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรทำให้การศึกษาไทยเป็นพิษ เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….(ฉบับผู้ประกอบวิชาชีพครู) เพื่อนำเสนอส่วนราชการที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศรีสวัสดิ์ สำนักงานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด นายธีรนันท์ คำคาวี ประธานดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเสวนาวิพากษ์ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….(ฉบับผู้ประกอบวิชาชีพครู) ซึ่งชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด ได้จัดการประชุมเสวนานี้ขึ้น โดย ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิก 110 คน จาก 4 เขต ตัวแทนครูจากจังหวัดต่าง ๆ 38 คน คณะกรรมการชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ 22 คน โดยมีการมอบเกียรติบัตรเชิดชูผู้นำองค์กรครูศรีสะเกษ 22 อำเภอ พิธีมอบโล่ผู้นำนักสู้ครูดีศรีสะเกษ 8 ราย และมีการเสวนาวิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…..(ฉบับผู้ประกอบวิชาชีพครู) โดยผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการ ส.ค.ท. ดร. สุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมฯ นายอุดม โพธิ์ชัย ผู้ทรงคุณวุฒิ นายเอกอมร ใจจง หัวหน้าสำนักงานชมรมฯ และเปิดเวทีวิพากษ์ แลกเปลี่ยนความเห็น ผู้เข้าร่วมการเสวนา โดยมีคณะที่ปรึกษาชมรมครูประถมศึกษาศรีสะเกษ ได้แก่ นายสนอง ทาหอม นายนิสิต รังษี และคณะมาร่วมประชุมจำนวนมาก จากนั้น ได้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทุกแขนง

ดร.สุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….กำลังอยู่ในช่วงของการรอนำเสนอสภาผู้แทนราษฏรชุดใหม่พิจารณา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….ดังกล่าว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการศึกษาของชาติ ทำให้การศึกษาไทยเป็นพิษ ด้วยบริบทประเทศ และสังคมไทย ประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติที่มากมาย การจัดการศึกษาที่จะตอบรับกับการรับรู้และรู้จักใช้สิ่งที่ดีงามที่มีค่าเหล่านี้ให้เกิดคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของพลเมืองไทยในยุคปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จึงจำเป็นต้องจัดให้มีกฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้สอดรับต่อการพัฒนาคนสู่สังคมโลกแห่งยุคหน้า ด้วยการพัฒนาคนที่ความถนัด พรสวรรค์และความสนใจ สู่สัมมาชีพแห่งตน ครอบครัวและสังคม อันจะส่งผลต่อความเป็นอยู่และสงบสุขของชนในชาติ ดังนั้น ชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ประกอบไปด้วยองค์กรครู ผู้ประกอบวิชาชีพครู 22 อำเภอทั้งจังหวัด จึงได้ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ……โดยการสนับสนุนและมอบหมายจากคณะยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)

ดร.สุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า การยกร่างได้สำเร็จและนำสู่การวิพากษ์โดยผู้นำ ผู้ประกอบวิชาชีพครูจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 25 ก.ค.66 ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด เพื่อนำสู่แนวทางการปฏิวัติการศึกษาไทย โดยมีสาระกรอบนโยบายการศึกษา 8 ประการดังนี้ ข้อ 1 รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสำคัญต่อไปโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดใดจากนักเรียน เพื่อให้การศึกษาสะอาดบริสุทธิ์เป็นคุณประโยชน์แก่นักเรียนและประเทศชาติอย่างแท้จริง ปราศจากการศึกษาเป็นพิษทำลายอนาคตนักเรียนและบ่อนทำลายความสงบสุขและความมั่นคงของสถาบันสำคัญของชาติ ข้อ 2 พัฒนาโรงเรียนของรัฐทุกโรงให้เข้มแข็งด้วยการยกฐานะทุกโรงเรียนเป็นนิติบุคคล มีอิสระในการบริหาร เพื่อเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดโดยพลัน ข้อ 3 พัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงอย่างสมบูรณ์ เพื่อเร่งรัดจูงใจให้นักเรียนที่เรียนเก่งที่สุดและมีความประพฤติดีอย่างสม่ำเสมอตลอดมาตัดสินใจเลือกเรียนครูเป็นลำดับแรก เพื่อให้นักเรียนได้ครูเก่งและดีที่สุดเหมือนกันทั้งประเทศ ข้อ 4 สร้างหลักสูตรการศึกษาอย่างหลากหลายให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการสืบค้นและพัฒนาความถนัดของนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ข้อ 5 สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูทั้งข้าราชการครูและครูเอกชนผลิตสื่อ วัสดุอุปกรณ์ นวัตกรรม เทคโนโลยี สื่อดิจิทัลที่มีในโลกออนไลน์ เพื่อใช้ในการสอนและการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างกว้างขวางและหลากหลาย ข้อ 6 กระจายอำนาจการบริหารการศึกษาในราชการส่วนกลางและสถานศึกษา โดยยึดหลักการการมีส่วนร่วม ด้วยรูปแบบคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ(ผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างแท้จริง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) และผู้แทนข้าราชการครูและหรือผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพครู ข้อ 7 ส่งเสริมให้ประชาชนและเอกชนร่วมจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเมื่อมีคุณสมบัติ พร้อมจะปฏิบัติตามเงื่อนไขและได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้วให้จัดการศึกษาได้ เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพการศึกษาให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง ให้รัฐจัดเงินอุดหนุนนักเรียนทุกคนเท่ากับนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนของรัฐ และข้อ 8 พัฒนาสถาบันผลิตครูให้มีความพร้อมทุกด้านเท่าทันต่อยุคสมัยของโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและเหมาะสมกับสังคมประเทศไทยทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องครูของครู ครูของครูจะต้องเป็นข้าราชการครู มีจิตวิญญาณครูเข้มข้น (มีจิตผูกพันและห่วงใยลูกศิษย์และนักเรียนลูกหลานไทยมากกว่าใคร) มีคุณสมบัติเป็นแม่พิมพ์ของชาติที่ดีที่สุด ทั้งนี้ชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษจะได้นำเสนอไปยังหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทุกภาคส่วนได้ศึกษาและวิพากษ์ ให้มีความสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐบาลและผู้มีอำนาจพิจารณาต่อไป/////

 

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ

Related posts