ศรีสะเกษ ชาวบ้านวนาสวรรค์เปลี่ยนจากล่าผึ้งป่าหันมาเลี้ยงผึ้งโพรงลงทุนหลักร้อยสร้างรายได้หลักแสน สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยครัวเรือนเปราะบาง ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้านที่ตำบลไพรพัฒนา

ศรีสะเกษ ชาวบ้านวนาสวรรค์เปลี่ยนจากล่าผึ้งป่าหันมาเลี้ยงผึ้งโพรงลงทุนหลักร้อยสร้างรายได้หลักแสน สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยครัวเรือนเปราะบาง ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้านที่ตำบลไพรพัฒนา

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาประชาคมบ้านโอว์ปังโกว์ หมู่ 6 ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ จ่าเอกสมควร สิงห์คำ นายอำเภอภูสิงห์ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการการเลี้ยงผึ้งโพรงและผลิตกล่องสำหรับการเลี้ยงผึ้งโพรงมอบกล่องเลี้ยงผึ้งโพรงให้กับกลุ่มเป้าหมาย ผู้มีรายได้น้อย ครัวเรือนเปราะบาง จำนวน 50 ครัวเรือนในเขตตำบลไพรพัฒนา ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอภูสิงห์ ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์การชุมชน (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายและสภาองค์กรชุมชนตำบลไพรพัฒนา ได้ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงผึ้งโพรง เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนชาวตำบลไพรพัฒนา โดยนำประชาชนกลุ่มเป้าหมายมาร่วมกันเรียนรู้และปฏิบัติการผลิตกล่องเลี้ยงผึ้ง มีการสาธิตทักษะการเลี้ยงผึ้ง การดูแลผึ้ง หรือการสร้างบ้านให้ผึ้ง การเก็บน้ำผึ้งจากรังผึ้ง

และการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดจำหน่ายในรูปแบบตลาดออนไลน์ หลังจากนั้นกลุ่มเป้าหมายที่มาเข้ารับการอบรมจะได้รับกล่องเลี้ยงผึ้ง คนละ 4 กล่อง ไปใช้ในการเลี้ยงผึ้งเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตนเองตนเองและครอบครัวต่อไป โดยมี นายประดิษฐ์ บุญอร อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 106 ม.5 ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งบ้านวนาสวรรค์ และ นายสรวิษฐ์ ละออใสย์ ผญบ.โอว์ปังโก เป็นวิทยากรให้ความรู้ในการอบรมครั้งนี้ จากนั้น คณะวิทยากรที่เลี้ยงผึ้งโพรงประสบผลสำเร็จได้นำคณะนายอำเภอ ภูสิงห์ไปดูจุดที่ตั้งกล่องเพื่อเลี้ยงผึ้งโพรงอยู่ในภายในป่าใกล้กับชายแดนไทย – กัมพูชาด้าน อ.ภูสิงห์ โดยมี นายเกษมศานต์ ศรีโพนทอง ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ นายสาธิต พันธมาศ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา นายสรรณ์ญา กระสังข์ พัฒนาการอำเภอภูสิงห์ ร.ต.สราวุธ พลธุวรรณ หน.ชุดกิจการพลเรือนที่ 219 และคณะหัวหน้าส่วนราชการของ อ.ภูสิงห์มาร่วมในพิธีครั้งนี้ด้วย

นายสรวิษฐ์ ละออใสย์ ผญบ.โอว์ปังโก กล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้ จุดเริ่มต้นมาจากการเห็นเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ไปล่าผึ้งป่า ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงทั้งในข้อกฎหมาย การปีนป่ายต้นไม้สูง และความเสี่ยงที่จะถูกผึ้งต่อย ซึ่งในขณะเดียวกัน เยาวชนกลุ่มนี้ก็มีการเลี้ยงผึ้งอยู่ด้วย เลยเล็งเห็นว่าการเลี้ยงผึ้งโพรงน่าจะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าจะสร้างรายได้ให้กับตัวเขาเองและครอบครัว จึงได้หันมาทดลองเลี้ยงและประสานภาคีเครือข่ายมาให้ความรู้ หลังจากนั้นจึงเกิดการรวมกลุ่มเลี้ยงผึ้ง ก็ทำให้เกิดรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นอาชีพที่ยั่งยืน มีความยั่งยืนทั้งต่อชุมชนและระบบนิเวศต่อไป


นายประดิษฐ์ บุญอร อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 106 ม.5 ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งบ้านวนาสวรรค์ กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่ตนหันมาเลี้ยงผึ้งป่าเนื่องจากว่า ไม่อยากจากบ้านไปทำงานที่กรุงเทพเหมือนกับคนอื่นๆและทำอย่างไรก็ได้ที่ให้มีรายได้ขึ้นมาในครัวเรือนเลี้ยงครอบครัว ตอนแรกตนก็ประกอบอาชีพหาผึ้งป่าตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา แล้วก็เข้าไปดูใน YouTube ก็เห็นการเลี้ยงผึ้งโพรง ซึ่งพวกเรามีอาชีพหาผึ้งอยู่แล้ว ก็เลยลองทำดูตอนแรกทำเพียงแค่ 8 กล่องเท่านั้นแล้วก็ประสบผลสำเร็จโดยปีแรกไม่ได้อะไรเลยแค่เรียนรู้ ปีต่อมาจึงประสบผลสำเร็จ ขายได้ปีหนึ่งตนทำคนเดียวประมาณ 300,000 บาทต่อปี มันเป็นอาชีพเสริมที่ไม่กระทบต่ออาชีพหลัก

นายประดิษฐ์ บุญอร อายุ 30 ปี กล่าวว่า การดำเนินการช่วงแรกก็จะศึกษาหาความรู้ ใน YouTube เราไม่ได้ดูทั้งหมดเพียงแค่เป็นแนวทางเอามาปฏิบัติเอง กล่องเลี้ยงผึ้งปัจจุบันทำด้วยไม้อัด ตัดแผ่นไม้อัดให้ได้ขนาดกว้าง 30 ซม. ยาว 40 ซม. สูง 30 ซม. นำเอามาทำเป็นกล่อง เจาะรูข้างกล่องกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 5 ซม.เพื่อเป็นช่องสำหรับให้ผึ้งเข้าไปในกล่อง จากนั้นนำเอามาประกอบกันเป็นตัวกล่อง เสร็จแล้วล้างน้ำให้สะอาดแล้วทาไขผึ้งลงไปทั่วบริเวณกล่อง แล้วก็นำเอาไฟมาโลนเพียงแค่ให้ไขผึ้งละลายเข้าไปในเนื้อไม้ จากนั้นก็นำเอาไปตั้งล่อในป่า ซึ่งไขผึ้งนี้ก็ได้มาจากรังผึ้ง ที่เราเก็บน้ำผึ้งแล้วนำเอาไปต้มก็จะได้ไขผึ้งออกมา เราจะเริ่มนำเอากล่องที่ทาไขผึ้งเสร็จแล้วไปตั้งล่อผึ้งในป่าเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ผึ้งจะเริ่มกลับมาจากภูเขา เข้ามาอยู่ในป่าซึ่งผึ้งจะเข้าไปอยู่ในกล่องเรื่อยๆ ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม เราจะมาเก็บน้ำผึ้งในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมในช่วง 2 เดือนนี้เป็นหลัก ซึ่งจากนั้นเพิ่งก็จะถอยกลับเข้าไปอยู่ในป่าคืนสู่ธรรมชาติ จะวนเป็นแบบนี้ทุกปี จากนั้นเราก็เก็บกล่องเข้ามาไว้ พอถึงช่วงปลายฝนต้นหนาวก็นำเอากล่องไปล่อผึ้งอีก มันจะเป็นแบบนี้

นายประดิษฐ์ บุญอร อายุ 30 ปี กล่าวต่อไป กล่องแต่ละกล่องจะได้น้ำผึ้งสูงสุด ประมาณ 15 ขวดต่อหนึ่งกล่อง บางกล่องจะได้น้ำผึ้งตั้งแต่ 2 – 10 ขวด ซึ่งแล้วแต่ฝูงผึ้งว่าจะเป็นผึ้งฝูงเล็กหรือฝูงใหญ่ ฝูงไหนขยันและขึ้นอยู่กับป่าธรรมชาติด้วย ส่วนตลาดในการจำหน่ายนั้น ตนจะขายออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งไม่พอขาย โดยขายขวดละ 500 บาท บริการจัดส่งทั่วไทยโดยตรง จะมีช่อง YouTube ทีมงานพรานผึ้งบ้านนอก และ Pages ทีมงานพรานผึ้งบ้านนอกและ Facebook ชื่อขลุ่ยทีมงานพรานผึ้งบ้านนอก เบอร์โทร 080-6863927 ขณะนี้ตนกำลังพยายามขยายกลุ่ม ให้มากขึ้นโดยจะมีหน่วยงานเข้ามาให้การสนับสนุน เราจะขยายให้ได้จำนวนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากว่าทุกวันนี้น้ำผึ่งป่าที่เก็บได้ไม่พอขาย จึงได้จัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา จากเดิมที่ตนทำเป็นคนแรกเพียงคนเดียวเท่านั้น ตนก็ได้ดึงเอาน้อง ๆ เข้ามาทำด้วย ประมาณ 4 – 5 คนแล้วและมีหน่วยงานเข้ามาให้การสนับสนุนโดยตนทำคนเดียว ประมาณ 500 กล่อง มีรายได้ปีละประมาณ 300,000 บาท ส่วนทีมงานนั้นเมื่อรวมแล้วประมาณ 2,000 กล่อง ในกลุ่มทีมงานพรานผึ้งบ้านนอก ซึ่งตอนนี้ผึ้งไม่พอขายไม่มีน้ำผึ้งส่งให้ลูกค้าแล้ว

นายประดิษฐ์ บุญอร อายุ 30 ปี กล่าวต่อไปว่า ตนขอฝากถึงผู้ชอบบริโภคน้ำผึ้งป่าว่า น้ำผึ้งของเราเป็นน้ำผึ้งป่าแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเกสรดอกไม้ป่าผึ้งเราไม่ได้เลี้ยง ผึ้งมาอยู่เองตามธรรมชาติ เราแค่ทำกล่องไปตั้งไว้ในป่าพอถึงเวลาเราก็ไปเก็บน้ำหวานลงทุนเพียงกล่องละ 120 บาทใช้ได้นาน 10 ปี ไม่มีเสียหายเฉลี่ยคือมีรายได้กล่องละประมาณ 1,000 บาท หักรายจ่ายแล้ว จะมีรายได้เฉลี่ยกล่องละประมาณ 1,000 บาทรายจ่ายก็ไม่ได้มีอะไรมากแค่ซื้อขวดมาใส่น้ำผึ้งก็ไม่มากเท่าไหร่ ลงทุนหลักร้อยแต่มีรายได้หลักแสนบาทต่อปี

นายเกษมศานต์ ศรีโพนทอง ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า เราเห็นว่าการเลี้ยงผึ้งโพรงนี้ เป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุมชนให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดีอย่างน้อยรายได้ต่อปี ประมาณ 1 – 200,000 บาท ในส่วนของสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษได้เข้ามาให้การสนับสนุนด้วยการจัดตั้งกลุ่มเป็นกลุ่มเลี้ยงผึ้งขนาดใหญ่และขยายผลไปยังอำเภออื่นๆที่มีพื้นที่ลักษณะเดียวกันที่มีความสนใจเป็นการต่อยอดพัฒนาให้มีกลุ่มเลี้ยงผึ้งที่มากขึ้นและเป็นกลุ่มแปลงใหญ่รวมกันเป็นกลุ่ม จากนั้นจะได้ประสานกับหน่วยงานที่มีงบประมาณมาให้การช่วยเหลือสนับสนุนให้อาชีพนี้เกิดความมั่นคงยังยืนต่อไป//////

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ

Related posts