“พ.ต.อ.ทวี” พร้อมคณะ ส.ส.พรรคประชาชาติ เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง 20 มาตรา

“พ.ต.อ.ทวี” พร้อมคณะ ส.ส.พรรคประชาชาติ เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง 20 มาตรา เหตุบังคับใช้ขัดหลักนิติธรรม อำนาจนิยม บทลงโทษที่ไม่เหมาะสมกับความผิด เสนอยกเลิกโทษปรับ 30 ล้าน หยุดริบเรือ ริบเครื่องมือทำมาหากินที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับพี่น้องชาวประมง

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ว่า “ต้องยอมรับว่าพระราชกำหนดประมงเกิดจากกลุ่มผู้มีอำนาจชุดหนึ่งได้กำหนดขึ้นมา แล้วเป็นพระราชกำหนดที่ถูกใช้มา 7 ปีกว่าแล้ว โดยฐานคติที่เป็นอำนาจนิยม แล้วก็เป็นกฎหมายที่อาจจะกล่าวได้ว่า มีความไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ขาดมนุษยธรรม และที่สำคัญอย่างยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตและการดำเนินอาชีพประมง

ตลอดเวลานอกจากจะตำหนิ คสช.ที่ยึดอำนาจแล้ว พระราชกำหนดฉบับนี้ก็ต้องตำหนิด้วย และผมก็มองไปที่รัฐบาลที่ปล่อยเวลาให้เปลี่ยนผ่านมาถึง 4 ปี จึงจะมาแก้ ทั้งที่รู้ว่าสภาเหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือน โดยเฉพาะต้องยอมรับว่ารัฐบาลจะต้องมีหน้าที่ตามมาตรา 118 ก็คือการบริหารราชการแผ่นดินเป็นหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง

วันนี้สถานการณ์ของประมงเหมือนว่า พระราชกำหนดฉบับนี้เกิดขึ้น เพื่อไม่ต้องการที่จะให้มีการทำประมง ผลกระทบของประมงเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นประมงพื้นบ้าน ซึ่งถ้าข้อมูลที่รวบรวมในส่วนของพรรคประชาชาติ ประมงพื้นบ้าน พอแก้เข้าจริงๆ คือต้องการที่จะให้มีทรัพยากรประมงชายฝั่งมากขึ้น แต่ปรากฏว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งกลับมากขึ้น จับปลาได้ยากขึ้น ปัญหาที่สำคัญคือประมงพื้นบ้านไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแล สินเชื่อหรือประมงขาดการดูแลเลย

ถ้ามาดูประมงพาณิชย์คือมีการบังคับใช้กฎหมายขัดหลักนิติธรรม ผมเห็นมีการที่ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ส่งกรณีที่จำเลยถูกจับในเรื่องเรือประมงพาณิชย์ ศาลได้พิจารณาเห็นว่า จำเลยได้ต่อสู้เรื่องพระราชกำหนดการประมงขัดรัฐธรรมนูญ แล้วก็ส่งเข้ามาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่พอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบางมาตรานั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่มาตราสำคัญคือมาตรา 4 ที่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ขจัดสิทธิเสรีภาพโดยอ้างว่า ผู้ร้องไม่ได้ให้เหตุผลตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ

ถ้าเรามาดูการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวประมงที่คุณไปตั้งฐานคิดนั้น IUU หรือ EU เราค้าขายปีละแค่ 5,000 ล้านบาท หรือปีละแค่ 8,000 ล้าน แต่ขณะที่เราค้าขายกับบุคคลอื่นๆ ปีละเกือบ 2 แสนล้าน เราสูญเสียไป 7 ปี ประมาณ 1.4 ล้านล้าน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรากฏทั่วไป อย่างนี้ไม่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร ดังนั้นจึงมีข้อกล่าวหาที่ทรมานมากมาย โทษปรับ 30 ล้าน ลักษณะอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร คือท่านไม่มีความรู้เรื่องอาชญาวิทยาเลย การลงโทษกับความผิดมันต้องเหมาะสม แต่นี่เป็นการลงโทษจากคนขยันแล้วมาทำลายคน

ปัญหาประมงพาณิชย์มีอีกอันคือการขาดแคลนแรงงานประมง โดยเฉพาะไม่ได้ไปเหลียวแลเรื่องต่างด้าว ปล่อยให้เขาต่อสู้ตามยถากรรม ปัญหาที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ วันทำประมง พอเรื่องแรงงานไปคิดเขา 360 วัน แต่จริงๆ เขาทำได้แค่ 240 วัน (ต้องหยุดจับปลาหน้ามรสุม) ปัญหาเรือประมงที่ต้องไปถือสัญชาติมาเลเซีย เหมือนเรือประมงมีแผ่นดินเกิด แต่ไม่มีแผ่นดินตาย เพราะผลักไสให้ไปอยู่ประเทศมาเลเซีย แต่สิ่งที่เขาต้องกลับมาซ่อมในประเทศไทยก็ทำไมได้

ปัญหาอีกอันก็คือ ความล่าช้าในการซื้อเรือออกนอกระบบ วันนี้เป็นความทรมานของชาวประมงมาก เป็นการที่ผมบอกว่าขัดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะว่าเขามีความขยัน เขามีเครื่องมีอที่จะทำประมง แต่ถ้าไปทำประมง โทษนอกจากติดคุกก็คือล้มละลาย จึงเป็นเหตุที่เขาไม่สามารถจะทำได้

วันนี้ผมจึงเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้จึงมีความจำเป็นต้องมีการแก้ไข เพราะอย่างน้อยที่สุดหลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ขึ้นมา กฎหมายอันนี้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน กฎหมายอันนี้ขัดขวางต่อการพัฒนา และที่สำคัญอย่างยิ่งคือเป็นกฎหมายที่ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วม และขัดรัฐธรรมนูญเกือบทุกมาตรา

ผมขอชื่นชมผู้เสนอร่างกฎหมายหลายท่าน ผมเองได้พูดขึ้นมาในการประชุมผู้นำฝ่ายค้านเมื่อ 12 ม.ค.66 เราถามกันว่า เหลือเวลาอีกไม่กี่วันจะทำอย่างไร ผมบอกว่า วันนี้สภาผู้แทนราษฎรของเรา เป็นสภาผู้แทนของรัฐบาล ไม่ได้เป็นสภาผู้แทนของราษฎร เพราะปัญหาที่ราษฎรเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า กฎหมายที่เกิดจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เราไปหมกไว้ท้ายๆ หมดแล้วไม่สามารถนำขึ้นมาได้ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านจะต้องไปที่ประจวบคีรีขันธ์แล้วไปพูดเรื่องประมง ต้องขอบคุณท่านผู้นำฝ่ายค้าน เราบอกว่าเราลองหยิบเรื่องนี้ไปคุยกับประธานสภา เพราะประธานสภาเองบ้านท่านก็อยู่ชายทะเล บ้านท่านก็อยู่ภาคใต้ ผมเชื่อว่าท่านก็มีความรู้สึก มีความเจ็บ ความเดือดร้อนที่ญาติเป็นประมงเหมือนกัน ต้องขอขอบคุณท่านประธานที่ได้บรรจุเรื่องนี้ขึ้นมา

ในส่วนของผมนั้น เราแก้ประมาณ 20 มาตรา การลงโทษที่รุนแรง ป่าเถื่อน และไร้มนุษยธรรมนั้น มันเป็นคำกล่าวเรื่องอาชญากรนั้น ไม่ใช่หมายความถึงผู้ที่กระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดเท่านั้น อาชญากรยังหมายถึงผู้บัญญัติกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของความยุติธรรม ถ้าเกิดว่าประชาชนไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ของกฎหมายได้ ประชาชนไม่สามารถที่จะมีกฎหมายคุ้มครองความเป็นธรรมได้กฎหมายชนิดนี้ก็เป็นอาชญากรชนิดหนึ่ง ในส่วนที่ผมแก้อาจจะมีรายละเอียดซึ่งผมอาจจะไม่พูดถึง โดยเฉพาะโทษที่เป็นช่วงปรับถึง 30 ล้าน ผมไม่ให้เกิน 1 ล้าน แล้วการริบเรือ ริบเครื่องมือ มันเป็นเรื่องที่สาหัสสากรรจ์

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า สมาชิกทั้งหมด อดีตเป็นบทเรียน ปัจจุบันและอนาคตเราต้องมาช่วยกันแก้ไข เชื่อว่าแม้แต่ 4 ปีที่ผ่านมานั้น ท่านทุกข์ทรมาน ประชาชนหรือชาวประมง หรืออาชีพต่อเนื่อง ถ้ารู้ว่าความทุกข์ของเขาได้บรรจุมาแก้กฎหมาย ซึ่งวันนี้การแก้กฎหมายก็ยากจะเยียวยาแล้ว เพราะทำลายเขาไปหมดแล้ว แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแสดงความให้เกียรติ การเคารพ ซึ่งการแก้ปัญหาประมงนั้นมันจะยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าสมาชิกทุกคนจะเห็นด้วย แล้วได้มีการตั้งกรรมาธิการ แล้วก็มีกฎหมายบางฉบับที่เสนอหลังๆ หรือของพรรคเพื่อไทย เป็นกฎหมายที่เกิดจากประชาชนร่างมาด้วยซ้ำ อันนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งครับ”

พ.ต.อ.ทวี อภิปรายในอีกช่วงหนึ่งว่า “ในฐานะ 1 ใน 7 ที่ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ผมต้องขอขอบคุณสมาชิกที่ได้ร่วมกันอภิปราย อยากจะเรียนว่า การบัญญัติกฎหมายเราต้องมีเป้าประสงค์เดียว คือเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน กฎหมายพระราชกำหนดการประมงที่เกิดขึ้นนั้น เราจะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เป็นกฎหมายที่ต้องการให้คนกลุ่มหนึ่งมีความสุข แต่ให้ชาวประมงและพี่น้องคนไทยที่มีอาชีพประมงทั้งประเทศต้องทนทุกข์ และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงขั้นถูกกดดัน ถูกละเมิดสิทธิ เป็นเวลานานมากในเวลา 7 ปี ที่ไม่น่าเชื่อว่าอาชีพประมงเกือบจะสูญสลายไป

แม้จะมีพระราชกำหนดบางส่วนที่อาจจะมองว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็ยอมรับว่าเป็นหลักการออกกฎหมายที่ให้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ให้ดุลยพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมาย และให้ดุลยพินิจของศาล ซึ่งในหลักการนั้นการออกกฎหมายที่ดีจะต้องมีข้อความชัดเจน ไม่คลุมเครือ ไม่แอบแฝง ดังนั้นการบัญญัติกฎหมายที่ชัดเจนจะหนีไม่พ้นควรที่จะให้ผู้แทนประชาชนที่มีความปราดเปรื่องและมีความรู้ให้เข้ามาร่วมกันออกกฎหมาย ความเลวร้ายความรุนแรงของกฎหมายทับถมทวีขึ้นเมื่อกฎหมายอยู่ในอุ้งมือของคนกลุ่มหนึ่ง การตีความ การใช้ดุลยพินิจก็จะอยู่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากมาย

วันนี้เราเหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือน สภาก็จะครบอายุ ถ้าเราได้รับร่างกฎหมายฉบับนี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 147 คือ กรณีพระราชบัญญัติที่ยังมิได้ความเห็นชอบจากสภา เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ และภายใน 60 วันถ้ารัฐบาลใหม่เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็น มีความสำคัญ ก็สามารถยื่นให้ประธานสภา หรือวุฒิสภา พิจารณาต่อได้ ผมคิดว่าไม่มีความสายไปสำหรับปัญหาของประชาชน เมื่ออยากให้สภาแห่งนี้ได้รับร่างอ ย่างน้อยที่สุดได้เป็นจุดเริ่มต้น เรามีรัฐบาลใหม่ที่มาจากประชาชน อยากจะเรียนว่าประชาชนไม่ได้อยู่รับใช้รัฐบาล แต่รัฐบาลต่างหากที่ต้องอยู่รับใช้ประชาชน พี่น้องประมงที่ต้องเดินทางไกลด้วยความยากลำบาก เขาก็ต้องการที่จะปลดโซ่ตรวน ปลดความอยุติธรรมออกมา

ดังนั้นผมจึงเรียกร้องและขอวิงวอนในที่ประชุมแห่งนี้ ถ้าเราทิ้งเวลาไว้มากขึ้น เช่นในวาระครั้งหน้ามีการอภิปรายทั่วไป ซึ่งการอภิปรายทั่วไปเพื่อสอบถามรัฐบาลก็จริง แต่มันเป็นการอภิปรายที่ผมอยู่ในกลุ่มฝ่ายค้านที่จะมีความรุนแรง กฎหมายและมีข้อมูลที่ชัดเจน ผมเกรงว่าสภา รัฐบาลอาจจะชิงหลบ หรือไม่ให้มีการอภิปรายด้วยวิธีต่างๆ จึงอยากจะเรียนว่า ถ้าวันนี้สมาชิกไม่ครบ เราจะมีช่องทางอย่างไรที่จะลงมติตั้งกรรมาธิการ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นหลักประกันให้กับประชาชนทั้งประเทศว่า ทุกข์ของประชาชนจะได้รับการแก้ไข ผมจึงขอท่านประธานที่มีประสบการณ์และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เชื่อว่าจะแก้ปัญหาอันนี้ได้ครับ”

Related posts