“พ.ต.อ.ทวี” ค้าน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน แฉไม่เข้าข่ายเป็นกฎหมายปฏิรูป แถมยังขัดรัฐธรรมนูญ ละเมิดเสรีภาพสื่อ หวังครอบงำประชาชน ขจัดผู้เห็นต่าง ชี้เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….ว่า “ผมขอคัดค้าน สิ่งที่จะขอคัดค้านก็คือ ท่านส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาเป็นกฎหมายปฏิรูป (วุฒิสภาต้องร่วมพิจารณาด้วย) วันนี้เราพยายามจะบิดเบือนกฎหมาย ในหมวดของกฎหมายปฏิรูปมาตรา 259 แม้จะเขียนไม่ชัดเจนก็ตาม แต่เขาบอกว่า กฎหมายปฏิรูปทุกด้านต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ส่วนที่จะสัมฤทธิ์ผลให้บรรลุผลภายในระยะเวลา 5 ปี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ครบกำหนด 5 ปีมาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว เรายังพยายามบิดเบือนเอากฎหมายทั่วๆ ไปที่ควรจะเริ่มต้นด้วยสภาผู้แทนราษฎร ควรเริ่มต้นด้วยปัญหาความต้องการของประชาชนให้ผ่านไม่ควรจะเป็นกฎหมายปฏิรูป เพราะถ้าเป็นกฎหมายปฏิรูปต้องยอมรับว่า เป็นกฎหมายที่ ส.ว.250 คน คือ รับคำสั่งมา และเป็นกฎหมายที่ผมคิดว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะมีเหตุผลดีก็ตาม กฎหมายลักษณะนี้ก็จะต้องเหมือนถูกครอบงำ เหมือนเป็นการครอบงำสภาอีกรอบหนึ่ง
วันนี้เลยเวลา 5 ปีมาแล้ว ผมถือว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายปฏิรูป แม้ ครม.พยายามส่งมาให้เป็นกฎหมายปฏิรูปก็ตาม แต่เมื่อเลย 5 ปีแล้ว ครม.ก็ไม่มีหน้าที่ที่จะไปบิดเบือนรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญเราบัญญัติไว้ชัดเจนเลยว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น เป็นอันบังคับมิได้ ลองนึกไปถึงการจั่วเป็นข้ออ้างว่า กฎหมายนี้มาจากมาตรา 35 การไปมีกฎหมายฉบับนี้ ยิ่งผิดรัฐธรรมนูญใหญ่ เพราะมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้มีเสรีภาพในการเสนอข่าว การกำจัดหรือขจัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้น ไม่สามารถกระทำได้เลย จะกระทำได้มีข้อยกเว้นประการเดียวคือในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม
เขาบอกว่า ความจริงปรากฏความชั่วร้ายจะหายไป วันนี้กฎหมายฉบับนี้กลัวความจริง เมื่อกลัวความจริงก็คือ กลัวสื่อสารมวลชนที่จะออกมาเผยแพร่ความจริง ความจริงเป็นอาวุธสำคัญที่สุดของประชาชน ลองไปดูแค่มาตรา 5 ที่เขียนไว้ เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง ซึ่งมาตรา 5 เขาบอกว่า ‘ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อต้องมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมของสื่อ แต่การใช้เสรีภาพจะต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนข้อความนี้ไว้ รัฐธรรมนูญเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ สามารถทำได้ มีเสรีภาพ ยกเว้นในภาวะสงคราม เราต้องการจะสื่อเพื่อไม่ให้ประเทศถูกโจมตีโดยข้าศึก หรือไม่ให้ประเทศต้องตื่นตระหนก รัฐจึงจำเป็นต้องมาควบคุมสื่อ
ดังนั้นการที่นำร่างฉบับนี้ขึ้นมานั้น ผมเห็นว่าเป็นความต้องการที่จะครอบงำประชาชน ต้องการมาขจัดผู้ที่เห็นต่าง และที่สำคัญอย่างยิ่งในภาวะที่อาจจะมีการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในข้างหน้า เชื่อว่าถ้าสื่อสารมวลชนได้สื่อสารไปในช่องทางที่ถูกต้อง จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถจะปิดบังได้ จึงต้องปิดปากสื่อไว้ก่อน
ในเรื่องของสื่อปัจจุบันเรายังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากกมาย โดยเฉพาะกฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กฎหมาย กสทช. ซึ่งหลายเรื่องก็จะมาเกี่ยวเนื่องและซ้ำซ้อนกัน วันนี้เหมือนเรากำลังจะมีโซ่ตรวนมัดมือมัดเท้าสื่อมวลชน เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นผมคิดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้นอกจากจะขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อความเจริญของประเทศ ที่สำคัญจะมาเป็นการปิดกั้นและเป็นการทำลายเสรีภาพของประชาชน ผมจึงไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้”