ศอ.บต. นำเครือข่าย STRONG กว่า 100 คน เรียนรู้การเฝ้าระวังและติดตามการทุจริต สร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในหน่วยงานภาครัฐทุกรูปแบบ
วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2566) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเฝ้าระวังและติดตามการทุจริตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2566 เพื่อสร้างการรับรูและเพิ่มทักษะการเฝ้าระวังตลอดจนติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ โดยมีนางสาวเกษรบุญถนอม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (กรมบัญชีกลาง) เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมฯ พร้อมด้วยอัยการศาลสูง ผู้อำนวยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตศอ.บต. ผู้แทนจากสำนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชนด้านการต่อต้านการทุจริตในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล (ชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต) กว่า 100 คน เข้าร่วม ณ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา จังหวัดสงขลา
ในการนี้นางสาวเกษรบุญถนอม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วน ที่จะต้องได้รับการแก้ไขถึงแม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ พยายามออกนโยบาย มาตรการปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศไทยให้ลดลงได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเครือข่ายภาคประชาชนด้านการต่อต้านการทุจริตในการบูรณการและความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตรวมทั้งสร้างจิตสำนึกและค่านิยมให้ทุกคนตื่นตัวละอายต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการแก้ไขปัญหาที่ว่า “ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ”
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวเป็นการจัดขึ้นตามแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริต ศอ.บต. ประจำ 2566 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานจากทุกภาคส่วนในการบูรณการและความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และนำแนวทางแผนปฏิบัติ การด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติชอบระยะที่ 2 (2566 – 2570) เป็นแนวทางไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ภาครัฐมีความโปร่งใสปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 6 – 8 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิทยากรที่มีความเชียวชาญในหัวข้อต่าง ๆ ด้วย
ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนด้านการต่อต้านการทุจริต 5 จชต.(ชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต) เป็นกลุ่มจิตอาสาต้านโกงภาคประชาชนที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและหน่วยงานต่างๆ ที่จะร่วมเป็นหูเป็นตาและพลังในการปลุกจิตสำนึกของคนในสังคมด้วยประสบการณ์จริง ให้สังคมได้ตื่นรู้ ไม่นิ่งเฉยและหันมาร่วมกันรับผิดชอบเฝ้าระวังชี้เบาะแสปัญหาการทุจริตตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนในแต่ละพื้นที่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมต่อไป