คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.ราชภัฏสงขลา พัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับคนในชุมชนฐานราก จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของศูนย์การเรียนรู้มะพร้าวน้ำหอมครบวงจร การแปรรูปวุ้นมะพร้าว
(3 ก.พ.66) ณ ศูนย์เรียนรู้มะพร้าวน้ำหอมครบวงจร ม.9 ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.ราชภัฎสงขลา จัดโครงการชุมชนต้นแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมชุมชนตำบลเกาะแต้ว โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของศูนย์การเรียนรู้มะพร้าวน้ำหอมครบวงจร กำหนด 2 วัน วันละ 1 โรงเรียน
ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วยนักเรียนโรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์ และ โรงเรียนชุมชนบ้านด่าน โดยการเรียนรู้จากฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน คือ การเตรียมต้นกล้ามะพร้าวน้ำหอม การเตรียมการปลูกและดูแลมะพร้าวน้ำหอม การเก็บเกี่ยวมะพร้าวน้ำหอม และการแปรรูปมะพร้าวน้ำหอม
อาจารย์วิรุณ เสนรุย ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้มะพร้าวน้ำหอมครบวงจร ตำบลเกาะแต้ว กล่าวว่า มะพร้าวน้ำหอมได้รับการนิยมบริโภคกันมากขึ้น เป็นพืชเศรษฐกิจที่เราควรให้ความสนใจและนำมาพัฒนา ตนเองในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ ได้รับการสนับสนุนจาก ม.ราชภัฏสงขลา ในการอบรมเชิงปฏิบัติการนำมะพร้าวน้ำหอมมาแปรรูปเป็นวุ้นมะพร้าว
“เราได้นำเอามะพร้าวน้ำหอมมาแปรรูปเป็นวุ้นมะพร้าว เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เป็นสินค้าบริโภคที่กระจายทั่วไปมากยิ่งขึ้น เพราะมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญแล้ว ยังมีคุณค่าต่อการบริโภคเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมเกาะแต้ว ได้รับการนิยมชมชอบว่าเป็น 1 ใน 5 ของประเทศว่ามีความหอม หวาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค”
ดร.ชำนาญ พูลสวัสดิ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.ราชภัฎสงขลา กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ตำบลเกาะแต้วพร้อมอาจารย์ โดยนำนักศึกษา รวมถึงนักเรียนโรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์ เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ อันเป็นโครงการหนึ่งที่เราพึงพอใจ เป็นโครงการที่มีการสืบทอดมรดกของท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม คือมะพร้าวน้ำหอมนั่นเอง
ดร.ชำนาญ กล่าวว่า เป็นโครงการที่คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.ราชภัฎสงขลา ได้ทำกันมาต่อเนื่อง โดยปีนี้เราพยายามที่จะให้เด็กนักเรียนในพื้นที่หรือใกล้เคียง มีโอกาสได้เรียนรู้วัฒนธรรมการปลูกมะพร้าวน้ำหอม การแปรรูปเพิ่มมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งมะพร้าวน้ำหอมเกาะแต้วเป็น 1 ใน 5 ของประเทศที่หอมหวานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
“กิจกรรมโดยเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก การดูแล การแปรรูปเป็นวุ้นมะพร้าว โดยกิจกรรมครั้งนี้มี 2 วัน วันแรกนักเรียนโรงเรีบนเกาะแต้วพิทยาสรรค์ และ วันที่ 2 นักเรียนโรงเรียนชุมชนบ้านด่าน โดยเราต้องการที่จะปลูกฝังให้เขาได้สัมผัสกับวัฒนธรรมท้องถิ่น รักบ้านเกิด เป็นโครงการดีๆ ที่เราสืบทอดสนองตามแนวทางพระราโชบายของรัชกาลที่ 10”
และยังกล่าวว่า “โดยภาพรวมแล้วคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์กับผู้มาอบรมมาสัมผัส และอยากจะเชิญชวนมาเที่ยวเกาะตัวที่มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมแล้ว และมารับประทานมะพร้าวน้ำหอมที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆ ของประเทศครับ”
#เกษมลิมะพันธุ์ #สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย