ศอ.บต.น้อมนำกระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “การเรียนการสอนภาษาไทยให้ชาวสยามในรัฐกลันตัน” สู่การปฏิบัติให้เห็นผลในเชิงประจักษ์
ในชุมชนชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย คณะสงฆ์และประชาชนชาวมาเลเซีย เชื้อสายสยามได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็งเพื่อรักษารากเหง้าอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธ์ุของชาวสยามไว้อย่างเต็มที่ โดยมีพระภิกษุสงฆ์เป็นแกนหลักในการปลูกฝังการเรียนการสอนภาษาไทยให้ชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังคงรักษาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ที่สะท้อนถึงความรักและความความภาคภูมิในเอกลักษณ์ของความเป็นชาวสยาม กระทั่งมูลนิธิพระวิเชียรโมลี(แฉล้ม เขมปญฺโญ) วัดชัยมงคล พระอารามหลวง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เข้ามาร่วมสนับสนุนด้วยการพัฒนาหลักสูตร “การเรียนการสอนภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมไทย” โดยมีจิตอาสาที่จบการเรียนการสอนในหลักสูตรเดียวกันจากรุ่นสู่รุ่นมาช่วยสอนกันเองในลักษณะพี่สอนน้อง โดยจิตอาสาเหล่านี้มาทำด้วยใจ ไร้ใบประกอบวิชาชีพครู หรือจบมาในหลักสูตรของครู ทำให้การเรียนการสอนเน้นการพูดเพื่อการสื่อสารเป็นหลัก ทั้งที่ในความเป็นจริงด้วยความเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามควรได้รับการพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทยที่มีหลักสูตรชัดเจนและได้รับการสนับสนุนจากประเทศไทยได้มากกว่านี้
ด้วยกระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปช่วยส่งเสริม“การเรียนการสอนภาษาไทยให้ชาวสยามในรัฐกลันตัน” เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต กรมประชาสัมพันธ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จึงได้นำคณะเดินทางไปติดตามการทำงานของมูลนิธิพระวิเชียรโมลี(แฉล้ม เขมปญฺโญ) และศูนย์การสอนภาษาไทย พุทธศาสนา และวัฒนธรรม รัฐกลันตัน ณ วัดมัชฌิมาราม บ้านยุงเกา อำเภอตุมปัส รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อศึกษาเรียนรู้แผนการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยของชาวไทยเชื้อสายสยามในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และนำไปพิจารณาให้การส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์จากกระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ปัจจุบันศูนย์การสอนภาษาไทย พุทธศาสนา และวัฒนธรรม รัฐกลัน ได้นำหลักสูตรการเรียนการสอนภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมไทยของมูลนิธิพระวิเชียรโมลี(แฉล้ม เขมปญฺโญ) ที่ประกอบด้วย 3 ระดับ เรียนระดับละ 6 วิชา โดยมีกลุ่มวิชาภาษาไทย ไวยากรณ์ไทย ทักษะภาษาไทย การออกเสียงและการสนทนาภาษาไทย ภาษาไทยที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมไทย และการเรียนภาษาไทยเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต มีหนังสือเรียน จำนวน 18 เล่ม แต่ละระดับใช้ระยะเวลาเรียน 2 ปี ปีการศึกษาละ 1 ภาคเรียน และสอบปลายภาคในห้วงเดือนธันวาคมของทุกปี เมื่อจบหลักสูตรจะได้รับใบรับรองจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) เทียบเท่าระดับประถมศึกษาตอนปลายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ละปีจะเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-ธันวาคม โดยปี 2566 จะเริ่มเปิดเรียนวันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2566 กลุ่มผู้เรียนมีทั้งชาวมาเลเซียเชื้อสายสยาม และชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีนในรัฐกลันตัน รัฐเคดาห์ รัฐเปอร์ลิส กรุงกัวลาลัมเปอร์ รัฐยะโฮร์ รัฐสลังงอร์ รัฐมะละกา และรัฐเนอเกอรีเซิมบิลัน ที่มีอายุระหว่าง 7-15 ปี และกลุ่มเป้าหมายพิเศษที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นนักศึกษา ครู อาจารย์ และผู้ที่สนใจ
สิ่งสำคัญที่มีการสะท้อนจากพระครูสุวรรณวรานุกูล เจ้าอาวาสวัดพิกุลทองวราราม อำเภอตุมปัส นายนิคม ยอดมณี เลขานุการมูลนิธิพระวิเชียรโมลี(แฉล้ม เขมปญฺโญ) และนายEhlai Pramuai ชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามที่ได้รับโอกาสในการเข้าทำงานกับมูลนิธิพระวิเชียรโมลี(แฉล้ม เขมปญฺโญ) คือ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่สามารถนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาผู้เรียนให้ได้รับประกาศนียบัตรที่นำไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านการศึกษาและอาชีพ การสนับสนุนครูที่มีทักษะความรู้ด้านภาษาไทย กองทุนสนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยและกิจกรรมที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไทย ทั้งนี้รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงห่วงใยพสกนิกรชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย และขอบคุณ ศอ.บต.ที่ได้เข้ามาแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนภาษาไทย ตลอดจนร่วมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามในประเทศมาเลเซีย เพื่อเติมเต็มให้ชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามได้มีความสุขและปลาบปลื้มใจจากความห่วงใยและใส่ใจของผู้ที่มีสายเลือด และรากเหง้ามาจากถิ่น ที่เดียวกัน
นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การเดินทางเข้ามาติดตามการทำงานของภาคส่วนต่างๆของชาวไทยเชื้อสายสยามในรัฐกลันตัน ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ศอ.บต.จะเข้ามาร่วมส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง ซึ่งสิ่งที่จะดำเนินการทันทีหลังจากนี้ คือการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อประสานความร่วมมือระหว่าง ศอ.บต.และชุมชนชาวมาเลเซีย เชื้อสายสยามผ่านมูลนิธิพระวิเชียรโมลี(แฉล้ม เขมปญฺโญ) ร่วมสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบันซึ่งจะใช้เวลาในการจัดทำแผนและดำเนินการให้เป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือนนี้ โดยขอให้มั่นใจว่า ศอ.บต. จะดำเนินการสืบสานเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องเพราะพวกเราทุกคนมีสายเลือดเดียวกันแตกต่างกันเพียงผืนแผ่นดินที่อยู่ นอกจากนี้จะแสดงให้เห็นว่า ศอ.บต.ให้ความสำคัญกับชาวมาเลเซีย เชื้อสายสยาม ด้วยการเตรียมทำหนังสือเสนอให้คณะสงฆ์ และชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามเข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก การคัดเลือกบุคลากรที่ช่วยส่งเสริมการใช้ภาษาไทยในประเทศมาเลเซียให้ได้รับการยกย่องและเชิดชูเกียรติด้วยการขอรับพระราชทานรางวัลบุคคลดีเด่นด้านการส่งเสริม การใช้ภาษาไทยในชุมชนชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เป็นหนึ่งในภารกิจของศอ.บต.ที่มุ่งส่งเสริมคนดีมีจริยธรรมและสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและส่วนรวม