สตูล “ข้าวหลามอบโอ่ง” จากเมนูพื้นบ้านสู่นวัตกรรมใหม่ ลดพลังงานและมลพิษทางอากาศ

สตูล “ข้าวหลามอบโอ่ง” จากเมนูพื้นบ้านสู่นวัตกรรมใหม่ ลดพลังงานและมลพิษทางอากาศ

งานแข่งว่าว กินข้าวหลาม สืบสานประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ตลาดชายเขาหมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล นอกจากจะมีการแข่งว่าว ให้เด็ก ๆได้เล่นว่าวกันอย่างสนุกสนานและมีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นถิ่นแล้ว ที่นี่ยังมีการนำอาหารการกินที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นโบราณมาออกบูธโชว์ด้วย อย่างเมนู “ข้าวเหนียวหลามอบโอ่ง” ซึ่งเดิมทีเมนูนี้มีจุดเริ่มต้นมาจาก ข้าวหลามที่หุงด้วยฟืนไฟที่มีควันปกคลุมคละคลุ้ง แต่เมื่อชาวบ้านชุมชนควนบ่อทอง หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งนุ้ย ได้เกิดไอเดียที่ว่า (ในเมื่อไก่ยังนำมาอบโอ่งได้ แล้วทำไม ข้าวเหนียวหลามจะอบโอ่งไม่ได้)

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว จึงเปิดปฏิบัติการนำข้าวเหนียวล้างน้ำสะอาด กรอกปนกับหัวกะทิลงในกระบอกไม้ไผ่ที่ห่อด้วยใบตอง แล้วนำไปเรียงไว้ในโอ่งมังกรที่มีการเจาะรู ใส่เตาไฟอังโล้ไว้ตรงกลางโอ่งปิดฝา อบอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยทุก ๆ ครึ่งชั่วโมงจะเปิดฝาพลิกไปมาหนึ่งครั้งจนครบ 3 ครั้งคือ 1 ชั่วโมงครึ่งเป็นอันสำเร็จ ได้ความอร่อยกลมกล่อม แถมใช้เชื้อเพลิงน้อยและลดมลพิษทางอากาศ ไม่มีกลุ่มควันไฟคละคลุ้งเหมือนการหุงข้าวหลามย่างไฟกับกระบอกไม้ไผ่ เสริ์ฟพร้อมกับแกงมัสมั่นเนื้ออร่อยอิ่มจุก ยิ่งได้ทานกับมือตามวัฒนธรรมทางภาคใต้แล้วฟินกันเลยทีเดียว


นายอารีย์ สูสัน อายุ 61 ปี ประธานผู้สูงอายุ ของกลุ่มชุมชนบ้าน ควนบ่อทอง บอกว่า ตอนนี้ทางกลุ่มชาวบ้านยังไม่ได้ขายเป็นล่ำเป็นสัน จะมีการออกบูธหรือไปทำตามหมู่บ้านที่มีงานบุญ หรือเทศกาลต่าง ๆ หากสนใจสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ คือ 086 290 0704

นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดสตูล

Related posts