ศรีสะเกษ พ่อเมืองขับรถไถหว่านปุ๋ยคอกและไถกลบตอซังเพื่อรณรงค์ไม่ให้เกษตรกรเผาตอซังข้าว
เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา บ้านโพนยาง ต.โพนยาง อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “นวัตกรรมการบริหารจัดการ PM 2.5 ด้วยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว สำหรับเกษตรกรใน จ.ศรีสะเกษ” ซึ่งคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยมี นายทิวา รุ้งแก้ว ประธานชมรมคนรักในหลวงจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายวุฒิเดช ทองพูล ประธานเครือข่ายโคกหนองนา จังหวัดศรีสะเกษ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกรมาร่วมกิจกรรม โดยมี ผศ.ดร.เชี่ยวชาญ แสงทอง คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในนามตัวแทนผู้ดำเนินงานโครงการ “นวัตกรรมการบริหารจัดการ PM 2.5 ด้วยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว” เป็นผู้กล่าวรายงาน ซึ่งหลังจากพิธีเปิดโครงการแล้ว ผวจ.ศรีสะเกษ ได้ไปทำการขับรถไถ เพื่อทำการหว่านปุ๋ย และไถกลบตอซังข้าว ทั้งนี้เพื่อเป็นการรณรงค์การไถกลบตอซังข้าวอย่างเต็มที่
ผศ.ดร.เชี่ยวชาญ แสงทอง คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การจัดโครงการครั้งนี้ เป็นหนึ่งโครงการภายใต้โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษด้าน BCG,การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เพื่อนำนวัตกรรมการย่อยสลายตอชังข้าวด้วยน้ำหมักชีวภาพจากจาวปลวกทดแทนการเผา มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรในพื้นที่ ต.โพนยาง และ ต.บ่อแก้ว จำนวน 120 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์วิถีศรีสะเกษสู่ครัวโลก มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษได้ดำเนินการประสาน วิทยากร จำนวน 2 ท่าน คือ อาจารย์ ดร.วิมลศิริ สีหะวงษ์/อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร
และ ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (มอบหมายให้
นายบุลากร ขอจงดี ตำแหน่ง เจ้าพนักการเกษตรปฏิบัติงาน เป็นวิทยากรอบรมเกี่ยวกับความรู้ที่มุ่งสร้าง
การรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงปัญหา และแนวทางการบริหารจัดการ PM 2.5 ทั้งการอบรมเชิง
ปฏิบัติการการทำน้ำหมักชีวภาพจากจาวปลวก ซึ่งมีคุณสมบัติสำหรับการย่อยสลายตอซังข้าว ในระหว่าง
วันที่ 21- 22 ม.ค.2566 เป็นที่มาของกิจกรรมนำน้ำหมักมาใช้ย่อยสลายตอซังข้าวในแปลงนาสาธิตในวันนี้
ผศ.ดร.เชี่ยวชาญ แสงทอง คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า ในการนี้มหาวิทยาลัยฯ ขอขอบคุณเครือข่ายเกษตรอินทรีย์วิถีศรีสะเกษ ได้มอบปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 3 ตัน ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชาบ้านเห็นอ้ม นำรถหว่านปุ๋ยมาร่วมกิจกรรม มูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษา สนับสนุนขนมจีนและน้ำยา อบต.โพนยาง ที่ช่วยด้านการประสานงาน และจัดสถานที่ ร.ร.บ้านโพนยาง นำนักเรียนมาร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 50 คน
นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ช่วงนี้หลังเก็บเกี่ยวเสร็จเราก็พยายามรณรงค์ไถกลบตอซังข้าวอยากให้พี่น้องเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเราไม่เผา แต่อยากให้ไถกลบเพราะว่าตอซังก็จะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ จะลดต้นทุนในส่วนของปุ๋ยที่จะใช้ในการปลูกพืช จะลดต้นทุนไปได้เยอะมาก บางทีพี่น้องไม่เข้าใจก็คิดว่าการเผาจะทำให้ไถนาได้ง่ายขึ้น เป็นการกำจัดศัตรูพืช ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ การรณรงค์ก็เพราะว่าตัวที่เราเผา ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปุ๋ยทั้งนั้นเลย ถ้าเราได้ไถกลบตอเท่ากับว่าเราได้ปุ๋ยบำรุงดินเพิ่มปุ๋ยเข้าไปในดินก็จะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรลดต้นทุน จากที่เราต้องใช้ปุ๋ยเคมีลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะมาก ก็ขอฝากพี่น้องเกษตรกรชาวจังหวัดศรีสะเกษต้องช่วยกันในเรื่องนี้ให้ไถกลบตอซังข้าวและอาจจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มเติม มีการนำน้ำหมักชีวภาพเข้ามาพ่นช่วยการช่วยสลายให้ง่ายขึ้น มันก็เป็นอีกทางหนึ่ง แต่ว่าถ้าเราไม่มีการไถกลบได้เลย หากมีการพ่นน้ำหมักชีวภาพก็จะทำให้ย่อยสลายได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม//////
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ