ศรีสะเกษ ผู้ว่าสั่งเร่งจ่ายเงินเยียวยาอุบัติเหตุตายยกครัว 5 ศพ ปิดศูนย์7วันอันตราย สรุปเกิดอุบัติเหตุ 8 ครั้ง เสียชีวิต 7 ราย เตรียมนำเรื่องการทำประกันภัยและการทำ พ.ร.บ.การต่อทะเบียนให้ถูกต้องเข้าขับเคลื่อนเป็นวาระจังหวัด

ศรีสะเกษ ผู้ว่าสั่งเร่งจ่ายเงินเยียวยาอุบัติเหตุตายยกครัว 5 ศพ ปิดศูนย์7วันอันตราย สรุปเกิดอุบัติเหตุ 8 ครั้ง เสียชีวิต 7 ราย เตรียมนำเรื่องการทำประกันภัยและการทำ พ.ร.บ.การต่อทะเบียนให้ถูกต้องเข้าขับเคลื่อนเป็นวาระจังหวัด

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสระกำแพงใหญ่ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เป็นประธานในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ซึ่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้รายงานผลการปฏิบัติงาน ปัญหา อุปสรรค การปฏิบัติงานตามมาตรการเน้นหนักให้ที่ประชุมรับทราบ โดย จากข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2565 ถึงวันที่ 4 ม.ค.2566 มีการเกิดอุบัติเหตุ 8 ครั้ง บาดเจ็บ 11 ราย เสียชีวิต 7 ราย สาเหตุการเกิดจากดื่มสุรา รถขับเร็ว ทัศนวิสัยไม่ดี ไม่สวมหมวกนิรภัยและสภาพรถไม่ปลอดภัย ขณะที่ 7 วันเทศกาลปีใหม่ได้มีการรณรงค์ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ ได้ทำการบูรณาการทั้ง 22 อำเภอ

ตั้งจุดตรวจรวม 937 แห่ง แยกเป็นจุดตรวจหลัก/จุดตรวจรอง 38 จุด จุดตรวจด่านชุมชน 682 แห่งและจุดบริการประชาชน 217 แห่ง พบว่าการเกิดอุบัติเหตุมีจำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ อ.กันทรารมย์ อ.ยางชุมน้อย อ.ขุขันธ์ อ.น้ำเกลี้ยง อ.ภูสิงห์ อ.เบญจลักษ์ และอ.พยุห์ และอำเภอที่ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุจำนวน 15 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.กันทรลักษ์ อ.ราษีไศล อ.บึงบูรพ์ อ.ปรางค์กู่ อ.โนนคูณ อ.ขุนหาญ อ.ไพรบึง อ.อุทุมพรพิสัย อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ อ.ห้วยทับทัน อ.ศรีรัตนะ อ.วังหิน อ.เมืองจันทร์ และ อ.ศิลาลาด โดยมี นายธาตรี สิริรุ่งวนิช ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นพ.สาธารณสุข จ.ศรีสะเกษ นายพีระพงศ์ หมื่นผ่อง หน.สนง.ปภ.ศรีสะเกษ นางรัชดาพร ไชยอิน ขนส่งจังหวัดศรีสะเกษ พ.ต.อ.เทพพิทักษ์ แสงกล้า รอง ผบก.ภ.จ.ศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับประชุมในครั้งนี้

นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ในจำนวนของสถิติที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ของ จ.ศรีสะเกษเกิดอุบัติเหตุ 8 ครั้งมีผู้บาดเจ็บ 11 รายและเสียชีวิต 7 รายซึ่งปีนี้ถ้ามองภาพรวมแล้วสถิติการเกิดอุบัติเหตุถือว่าลดลง จากปีที่แล้ว แต่ว่าในเรื่องของผู้เสียชีวิตจริงๆก็สูงกว่าปีที่แล้วเนื่องจากว่ามีอุบัติเหตุใหญ่อยู่ครั้งหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 รายถ้าไม่รวมการเกิดอุบัติเหตุรายนี้สถิติการเกิดอุบัติเหตุของเราก็จะถือว่าต่ำมาก แต่เนื่องจากว่าการเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต 5 รายเป็นอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งความสูญเสียที่เกิดขึ้น เราก็ต้องเสียใจกับผู้ที่ประสบเหตุ ซึ่งทางจังหวัดเองก็ได้เข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่ต้น ทั้งการดูแลเยียวยา การให้กำลังใจรวมทั้งทางนายแพทย์สาธารณสุขก็ได้เข้าไปดูแลและได้วางมาตรการในการช่วยเหลือ ทั้งเงินค่าชดเชยจากบริษัทประกันและจากบริษัทกลางก็ได้เข้าไปดูแลตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาก็ถือว่าโชคดี เพราะว่ากรณีของอุบัติเหตุใหญ่ทั้งรถก็มีประกันทั้ง 2 คัน รวมทั้งมีประกันผู้ขับขี่ด้วย ทำให้ทั้ง 5 รายที่เสียชีวิตอย่างน้อยก็มีเงินสำหรับทายาทผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่รายละ 1,550,000 บาท เป็นตัวชดเชยทดแทนที่จะได้รับ แต่ว่าเรื่องทายาทเนื่องจากว่าญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตเราก็จะต้องทำความเข้าใจว่าใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์บ้าง เพื่อให้ไม่ให้เกิดปัญหาภายหลังซึ่งทางจังหวัดก็ได้เข้าไปช่วยเหลือดูแลแล้ว

นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการวิเคราะห์เกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุของรถบนถนน อุบัติเหตุส่วนหนึ่งก็คือเมื่อมีการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็แล้วแต่แล้วไปเข้ารับการรักษาพยาบาล จากการตรวจสอบกลุ่มรถที่ประสบเหตุส่วนใหญ่ไม่ได้ทำ พ.ร.บ.หรือทำประกันภัยก็เป็นภาระส่วนหนึ่งเมื่อเข้าไปรักษาพยาบาลแล้วก็ต้องจ่ายเงินเองหรือบางรายไม่มีเงินจ่ายก็ต้องค้างหนี้โรงพยาบาลเป็นภาระด้านการรักษาพยาบาลอีก และอีกส่วนหนึ่งก็คือความ คุ้มครองสำหรับผู้ประสบภัยเองจะเป็นภาระในการติดตามเพื่อให้ได้รับเงินมาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ถ้าไม่ได้ทำประกันภาระความรับผิดชอบต้องตกอยู่กับผู้ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเอง ก็จะเป็นภาระมาก เพราะบางทีความเสียหายเกิดขึ้นมีมูลค่าสูง แต่ถ้าทำประกันบริษัทประกันภัยก็จะต้องรับผิดชอบทั้งหมด

นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ ยังกล่าวด้วยว่า จะทำให้ช่วยลดภาระทั้งของผู้ประสบเหตุ และจะได้รับการช่วยเหลือที่เร็วขึ้น มีรับประกันว่าได้เงินแน่นอนและตัวคนขับเองก็อย่างน้อย จะมีคนมาจ่ายเงินค่าทดแทนให้ บางคนมีฐานะยากจนไม่มีเงินไปจ่ายก็ไม่รู้ว่าจะเรียกร้องยังไงเมื่อเกิดเหตุขึ้นมา เพราะว่าไปขับชนเองแล้วตัวเองมีฐานะยากจนหรือว่าไม่มีเงินที่จะไปจ่ายภาระแบบนี้ก็จะวนเวียนไปการรณรงค์ในเรื่องการทำประกันเราให้ความสำคัญมาก การณรงค์ทำเรื่องประกันเราจึงให้ความสำคัญทำควบคู่กับการทำ พ.ร.บ.การต่อทะเบียนให้ถูกต้อง เพราะว่าการจดทะเบียนก็จะต้องมีการตรวจสอบสภาพของรถว่ามีความพร้อม อันที่ 2 การทำประกันก็จะช่วยคุ้มครองทั้งคนขับขี่และผู้ประสบเหตุ ปีนี้ก็จะถือว่าเป็นการรณรงค์ในเรื่องนี้ นอกจากมาตรการที่เราจะรณรงค์ความปลอดภัยแล้ว การคุ้มครองการเยียวยาการช่วยเหลือก็จะให้ความสำคัญเพื่อให้ผู้ประสบเหตุและผู้ขับขี่ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เราก็จะทำต่อเนื่องจากนี้ไปก็จะมีมาตรการ ที่ทางทีมขับเคลื่อนวาระจังหวัดจะนำเอาส่วนนี้เข้าไปร่วมด้วย/////

 

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ

Related posts